เฝ้าระวังเข้ม! ไข้หวัดนกระบาดประเทศเพื่อนบ้าน สั่งยกระดับตรวจด่านชายแดน ย้ำเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกป่วย-ตาย

Home » เฝ้าระวังเข้ม! ไข้หวัดนกระบาดประเทศเพื่อนบ้าน สั่งยกระดับตรวจด่านชายแดน ย้ำเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกป่วย-ตาย



นครราชสีมา ไข้หวัดนกระบาดประเทศเพื่อนบ้าน เฝ้าระวังใกล้ชิด สั่งด่านควบคุมโรคชายแดนยกระดับคัดกรองผู้เดินทาง ยังไม่พบระบาดในไทย ย้ำหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกป่วย-ตาย ห้ามกินเด็ดขาด

10 มี.ค. 66 – จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศกัมพูชา ได้ออกมายืนยันพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 เป็นรายแรกในรอบ 9 ปีของประเทศกัมพูชานั้น

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย จึงได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสั่งการให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกระดับการตรวจคัดกรองโรคในผู้เดินทาง โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กักกันโรคปศุสัตว์ ที่ด่านกักกันสัตว์ พรมแดนระหว่างประเทศที่พบการระบาดของไข้หวัดนก

ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรวม 25 รายเท่านั้น โดยรายแรกตรวจพบในปี พ.ศ. 2546 และรายสุดท้าย พบในปี พ.ศ.2549 รวมมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก จำนวน 17 ราย ซึ่งปัจจุบัน จากระบบการเฝ้าระวังฯ ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในสัตว์และคน แต่จะต้องเฝ้าระวังจับตาการระบาดของโรคกันอย่างใกล้ชิด

ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 9 มี 4 จังหวัดในความดูแล ได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า โรคไข้หวัดนก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก โดยเชื้อมีหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7

สามารถพบเชื้อได้ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก จากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก ซึ่งอาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งได้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบ อาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงปอดอักเสบเสียชีวิต

แต่โรคไข้หวัดนก สามารถป้องกันได้ ด้วยการรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย โดยห้ามนำไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกินอย่างเด็ดขาด และให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ รวมทั้ง ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก

ซึ่งหากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายจำนวนมาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบทันที และต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ออกมาจำหน่าย ตลอดจน ให้ดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

หากมีอาการป่วยไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือแจ้งประวัติการเดินทางโดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ