พาราเซตามอล, แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน แตกต่างกันอย่างไร?

Home » พาราเซตามอล, แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน แตกต่างกันอย่างไร?

“ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้” ส่วนใหญ่แล้วอาการเริ่มต้นของโรคต่างๆ มักเป็นอาการเหล่านี้ และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการรักษาตามอาการ นั่นก็คือการให้อย่างลดไข้แก้ปวด ตระกูลยาแก้ปวดมีมากมายหลายขนาน แต่ชนิดที่เป็นนิยมในหมู่คนไทยคงไม่มากไปกว่า พาราเซตามอล แอสไพริน และไอบูโพรเฟน ที่มีการซื้อขายกันบ่อยๆ ซื้อหาสะดวกตามร้านขายยาต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ก็ซื้อได้ และราคาไม่รุนแรง

ทว่า ยาแก้ปวดแต่ละชนิด แม้จะมีสรรพคุณช่วยแก้ปวดศีรษะ และเป็นไข้ได้ แต่ก็ยังมีความแตกต่างของสรรพคุณยาแต่ละตัวซ่อนอยู่

 

พาราเซตามอล

พาราเซตามอล มีอีกชื่อหนึ่งว่า อะเซตามิโนเฟน จัดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถทานเพื่อรักษาอาการปวด ลดไข้ ได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดตัวหนึ่ง

– ผู้ที่มีน้ำหนัก 34-50 กิโลกรัม ให้ทานยาพาราเซตามอลเพียง 1 เม็ด ไม่เกิน 5-6 ครั้งต่อวัน

– ผู้ที่มีน้ำหนัก 51-75 กิโลกรัม ให้ทานยาพาราเซตามอล 1 เม็ดครึ่ง ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน

– ผู้ที่มีน้ำหนัก 76 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ทานยาพาราเซตามอล 2 เม็ด ไม่เกิน 3-4 ครั้งต่อวัน

โดยทุกคนสามารถทานยาพาราเซตามอลได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หากทานพาราเซตามอลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์

 

ข้อดีของ พาราเซตามอล

– มีผลข้างเคียงน้อย

– รบกวนการทำงานของยา หรืออาหารเสริมอื่นๆ ที่ทานน้อย หรือแทบไม่มีผลเลย

– สามารถใช้ได้ครอบคลุมในหลายๆ โรค

– ไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงสามารถทานเมื่อไรก็ได้ที่มีอาการปวด ก่อนหรือหลังทานอาหารก็ได้ และสามารถทานซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมงเมื่อยังมีอาการอยู่

 

ข้อเสียของ พาราเซตามอล

– หากทานเป็นจำนวนมากเกินไป หรือติดต่อกันนานเกินไป อาจส่งผลต่อการทำงานของไต และตับได้ ผู้ป่วยโรคไต และตับ รวมไปถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อตับ เช่น คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น

– ไม่สามารถลดอาการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ เนื่อเยื่อ ข้อต่อต่างๆ ได้

– ผู้ที่แพ้ยาพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยานี้

 

__________________

แอสไพริน

ความนิยมรองลงมาจากพาราเซตามอล ก็เห็นจะเป็นแอสพารินที่ถูกเลือกเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่เห็นผลเช่นเดียวกัน บางคนอาจถูกกับแอสไพรินมากกว่าพาราเซตามอล จึงนิยมทานแอสไพรินมากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลก เพราะคุณสมบัติของแอสไพริน สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหลายๆ โรคได้

อย่างไรก็ตาม แอสไพริน เป็นหนึ่งในยาตระกูล NSAIDs หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จึงมีข้อควรระวังในการใช้ที่ควรทราบด้วย

ควรทานแอสไพรินในปริมาณ 325-650 มิลลิกรัมต่อครั้ง (บางการศึกษาพบว่า ควรเริ่มด้วยขนาดยา 600-650 มิลลิกรัมขึ้นไปในการบรรเทาอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง2-3 และขนาด 500-1000 มิลลิกรัมเพื่อลดไข้6) รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หากทานแอสไพรินแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์

 

ข้อดีของ แอสไพริน

– อาจารย์ เภสัชกรหญิง วิภารักษ์ บุญมาก ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า แอสไพรินเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี มีฤทธิ์ในการรักษาอาการอักเสบ เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อนต่างๆ และมีฤทธิ์ลดไข้

– มีฤทธิ์ในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด ทำให้ยานี้ถูกใช้ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดที่ขาอุดตัน เป็นต้น

– ผลที่ได้จากการใช้ยาแอสไพริน นอกจากจะบรรเทาอาการอักเสบแล้ว ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ยากมากขึ้น ซึ่งขนาดยาที่สูงของแอสไพริน (325-650 มิลลิกรัม ต่อครั้ง) จะได้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดและอักเสบ 2-3 ส่วนขนาดยาที่ต่ำของแอสไพริน (75-150 มิลลิกรัมต่อวัน) มีผลการรักษาที่ดีในแง่ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด

 

ข้อเสียของ แอสไพริน

– เมื่อแอสไพรินมีฤทธิ์สลายลิ่มเลือด ทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ยากมากขึ้น ดังนั้นอาจมีผลข้างเคียงที่เกี่ยวกับเลือด เช่น การเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างบ่อยและรุนแรง สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการใช้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารร่วมด้วย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาลดการหลั่งกรดนี้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้

– โอกาสของการเกิดเลือดออกจะมีมากขึ้นในผู้ที่ใช้ยาอื่นๆ ที่เสริมฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดหรือต้านการแข็งตัวของเลือดหรือใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (steroids) ร่วมด้วย ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินควรเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากจะเสริมฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดและเพิ่มความระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

– ลักษณะของเม็ดยาแอสไพรินจะมีขนาดใหญ่และเป็นเม็ดยาที่ถูกเคลือบเพื่อควบคุมให้มีการปลดปล่อยยาที่ลำไส้เล็ก จึงควรรับประทานยาทั้งเม็ดหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหารโดยใช้ตามอาการที่เป็น และหยุดใช้ยาเมื่ออาการหมดไป

– ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 16-19 ปี โดยเฉพาะเด็กหรือวัยรุ่นที่มีการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากพบว่าสัมพันธ์กับความผิดปกติ ที่เรียกว่า Reye’s syndrome ที่ถึงแม้จะเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงสูงจนอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้

– ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรทานยาแอสไพริน และยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพราะฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของแอสไพรินจะทำให้อาการเลือดออกผิดปกติเกิดได้ง่ายมากขึ้น ทำให้อาการไข้เลือดออกแย่ลง

– ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้ที่เป็นเฉพาะฤดู โรคตับ โรคไต โรคเกาต์ โรคหัวใจ ความดันในเลือดสูง หรือภาวะหัวใจวาย ผู้ที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร และผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการทานแอสไพริน หรือหากมีความจำเป็นจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน

– ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน หรือแพ้ยาตระกูล NSAIDs

 

____________________

ไอบูโพรเฟน

ยาแก้ปวดตัวสุดท้ายที่คนไทยนิยมทานกัน นั่นคือ ไอบูโพรเฟน บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นพาราเซตามอลสีชมพู แต่จริงๆ แล้วเป็นยาคนละชนิดกัน หลายคนอาจเคยประสบปัญหาว่า ทานยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่หายปวด จึงมองหายาที่ออกฤทธิ์แรงกว่า และคำตอบมาลงที่ไอบูโพรเฟน ที่สามารถลดอาการปวดศีรษะ ลดไข้ดได้เร็วกว่า ดังนั้นใครที่ได้ลองทานไอบูโพรเฟนแล้ว ยังนิยมทานไอบูโพรเฟนต่อไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราเซตามอล

ไอบูโพรเฟน เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของ NSAIDs จึงมีข้อควรระวังในการใช้ยาใกล้เคียงกับแอสไพริน

ควรทานไอบูโพรเฟน 400 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน

 

ข้อดีของ ไอบูโพรเฟน

– สามารถรักษาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดหลัง ข้อต่ออักเสบ ปวดประจำเดือน และอาการบาดเจ็บเล็กน้อยได้

– สามารถลดอาการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ เนื่อเยื่อ ข้อต่อต่างๆ ได้

– มีผลข้างเคียงน้อยกว่าแอสไพรินเล็กน้อย (แต่ยังมากกว่าพาราเซตามอล)

– ช่วยระงับอาการปวดรุนแรง หรือมีไช้สูงจัดได้ดีกว่าพาราเซตามอล

 

ข้อเสียของ ไอบูโพรเฟน

– ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟนพร่ำเพรื่อ ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ ที่ผู้ป่วยมีไข้สูงจัดมาก หรือมีอาการปวดรุนแรงมากเท่านั้น

– ไม่ควรทานไอบูโพรเฟนในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายได้

– ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดของไอบูโพรเฟน อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องท้อง และลำไส้ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

– ควรทานไอบูโพรเฟนเฉพาะหลังทานอาหาร ห้ามทานตอนท้องว่าง เพราะอาจส่งผลเสียต่อลำไส้และกระเพาะอาหารได้

– สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูโพรเฟน โดยเฉพาะขณะมีอายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน)

– ห้ามใช้ยาไอบูโพรเฟนกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

– ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลิ่มเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง โรคตับ โรคไต หรือโรคหอบหืดควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

– ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไอบูโพรเฟน หรือยาตระกูล NSAIDs ไม่ควรใช้ยานี้

 

แม้ว่าแอสไพริน และไอบูโพรเฟนจะมีข้อควรระวังมากกว่าพาราเซตามอล แต่ก็มีคุณสมบัติที่ดีในการเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ในบางกรณีอาจบรรเทาอาการได้ดีกว่าพาราเซตามอลได้เช่นกัน แต่การใช้ยาเพื่อแก้ปวดโดยทั่วไป สำหรับชาวไทยแนะนำพาราเซตามอลจะปลอดภัยที่สุด เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่า เมืองไทยมีไข้เลือดออกที่ฝั่งตะวันตกไม่ค่อยเป็นกัน หากทานตอนเป็นไข้เลือดออก (ที่มีอาการคล้ายไข้ปกติในช่วงแรก จึงอาจทำให้เราเข้าใจผิด) จะยิ่งทำให้อาการแย่ไปกว่าเดิม ในขณะที่ฝั่งตะวันตกนิยมแอสไพรินเพราะมีคุณสมบัติหลากหลายในการบรรเทาอาการมากกว่า

หากไม่แน่ใจว่าควรทานยาแก้ปวดชนิดใด ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทานยาทุกครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ