ดื่มโชว์! บ่อน้ำโซดา ชาวบ้านคาด คุณภาพระดับโลก

Home » ดื่มโชว์! บ่อน้ำโซดา ชาวบ้านคาด คุณภาพระดับโลก
บ่อบาดาล-2

ฮือฮากันทั้งอำเภอ! เมื่อขุดเจาะ บ่อน้ำบาดาล เจอน้ำคล้าย โซดา พุ่งขึ้นมา รสชาติซ่า ติดลิ้น ไร้กลิ่น

วันที่ 7 เม.ย. 2566 ที่สวนหลังบ้านคนในพื้นที่ จ.สุโขทัย ได้ทำการ ขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อทำการเกษตร ปรากฏว่าเจอน้ำมีรสชาติคล้ายโซดา ซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น สามารถดื่มกินได้ สงสัยว่าอาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก เหมือนกับที่พบในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2564 จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบ

พ.ท.คะเนตร รักวุ่น อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญสังกัด กอ.รมน.จว.สุโขทัยเจ้าของบ้าน บอกว่า เมื่อ 2 เดือนก่อนได้ว่าจ้างช่างให้มาขุดเจาะบ่อบาดาลตรงทุ่งนาติดกับสวนผลไม้หลังบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากประปาหมู่บ้านแค่ 200 เมตร โดยขุดเจาะลึกลงไป 70 เมตรก็เจอน้ำพุ่งขึ้นมา แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าน้ำมีรสซ่าคล้ายโซดา กระทั่งได้จ้างช่างมาติดตั้งปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์ แล้วพวกช่างได้ลองดื่มน้ำจากบ่อที่เพิ่งขุดเจาะ จึงรู้ว่ามีรสชาติแปลกคล้ายโซดา และซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่นใดๆ พอลองเอาไปรดต้นไม้ ก็สังเกตพบว่าต้นไม้ใบหญ้าจะมีสีเขียวเข้มกว่าปกติ เหมือนกับว่าในน้ำมีแร่ธาตุบำรุง

-1
ภาพจาก สุโขทัยโพสต์  
บ่อบาดาล-3
ภาพจาก สุโขทัยโพสต์  
  • สรุปให้! แก๊งชายชุดดำปิดวัดบางคลาน คาด มีนักการเมืองหนุนหลัง
  • ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ประกาศ Work from Home หลังค่า PM2.5 วิกฤต
  • มาเฟียโชว์กร่าง ขายตั๋วผี บ.ข.ส.สายใต้

ด้านนายควร คำศรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชิงคีรี, นายสมหวัง โสภา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.นาเชิงคีรี และนายหมอน หนองหลวง ช่างติดตั้งปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์ รวมทั้งชาวบ้านที่มาร่วมพิสูจน์ด้วยกันครั้งนี้ บอกว่าได้ลองดื่มน้ำแล้ว ปรากฏว่ามีรสซ่าคล้ายโซดาจริงๆ ยิ่งน้ำออกสีขุ่นก็จะยิ่งซ่ามาก แล้วก็ไม่มีกลิ่นสนิม หรือกลิ่นโคลน ชาวบ้านฮือฮา แอบลุ้นด้วยว่า นี่อาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก ราคาขวดละ 3,000 บาท เหมือนกับที่เจอในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาพิสูจน์ ตรวจสอบว่าแท้จริงคืออะไร มีสารปนเปื้อน เป็นพิษหรือไม่ ให้หายข้องใจไปเลย

บ่อบาดาล-5
ภาพจาก สุโขทัยโพสต์  

ในโซเชียลก็ได้มี เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้ออกมาพูดถึงการเจอบ่อน้ำนี้ยังไม่ควรรีบนำมาบริโภค ซึ่งน้ำบาดาลจะถูกกักเก็บอยู่ภายในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอน หรือรอยแตกของชั้นหิน โดยจะมีชั้นกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเรียกส่วนที่เก็บน้ำและกั้นน้ำรวมกันว่าชั้นน้ำบาดาล สามารถจำแนกชนิดของชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญ ได้แก่ ชั้นน้ำบาดาลไร้แรงดัน และชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน

บ่อบาดาล-4
ภาพจาก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

น้ำบาดาลไร้แรงดัน หมายถึง ชั้นที่มีน้ำบาดาลกักเก็บอยู่โดยไม่มีชั้นหินกั้นน้ำปิดทับอยู่ด้านบน เป็นชั้นน้ำบาดาลที่อยู่ถัดจากผิวดินลงไปโดยมีระดับน้ำบาดาลอยู่บนสุดของชั้นน้ำบาดาล

น้ำบาดาลมีแรงดัน หมายถึง ชั้นน้ำบาดาลที่มีชั้นกั้นน้ำปิดอยู่ด้านบนส่งผลให้น้ำบาดาลอยู่ภายใต้แรงดันที่มากกว่าแรงดันของบรรยากาศซึ่งพบว่าระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าระดับความลึกของชั้นน้ำบาดาล
ซึ่งเรียกว่าระดับแรงดันน้ำ ในกรณีที่มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลในตำแหน่งที่เป็นชั้นน้ำบาดาลมีแรงดันและมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับภูมิประเทศ (พื้นดิน) น้ำในบ่อน้ำบาดาลก็จะพุ่งขึ้นมาโดยไม่ต้องมีการสูบ เรียกว่า บ่อน้ำบาดาลพุ (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดน้ำบาดาลพุในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

น้ำบาดาลพุ ในพื้นที่ตำบลห้วยกระเจาเกิดจากการเจาะบ่อน้ำบาดาลในชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน และมีระดับแรงดันน้ำสูงกว่าระดับพื้นดิน อีกทั้งน้ำบาดาลได้รับความร้อนจากชั้นหินแกรนิตที่วางตัวอยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้น้ำบาดาลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนแล้วแทรกดันขึ้นมาตามรอยแตกของหินแปรยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน (รูปที่ 2) ผ่านบ่อน้ำบาดาลขึ้นสู่บนผิวดิน ที่พบเป็นลักษณะของน้ำที่พุ่งสูงขึ้นจากปากบ่อ อีกทั้งยังพบว่าน้ำที่ออกจากบ่อน้ำบาดาลมีลักษณะซ่าคล้ายโซดา หรือที่เรียกกันว่า น้ำบาดาลโซดา
น้ำบาดาลโซดา เกิดจากน้ำบาดาลที่มีอุณหภูมิสูงไหลผ่านชั้นหินปูนยุคออร์โดวิเชียนที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เมื่อหินปูนได้รับความร้อนและเกิดปฏิกิริยาการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาและสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้น้ำบาดาลพุในบริเวณนี้มีความซ่าคล้ายกับโซดา
แต่หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในน้ำลดลง ความซ่าก็จะลดลงเช่นกัน ซึ่งคล้ายกับการเปิดฝาน้ำโซดาหรือน้ำอัดลมแล้วตั้งทิ้งไว้ ความซ่าก็จะลดลง

ดังนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า น้ำบาดาลโซดา ที่สุโขทัย อาจจะมีสารเคมีต่างๆ ในน้ำที่เป็นลักษณะเดียวกัน คือ น้ำบาดาลนี้อาจจะไหลผ่านชั้นหินปูน ที่มีองค์ประกอบเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) แล้วเกิดปฏิกิริยาคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา และสะสมอยู่ในน้ำบาดาล ทำให้มีความซ่าคล้ายกับโซดาซึ่งถ้าเอามาทิ้งเอาไว้ ก็จะลดความซ่าลงไปครับส่วนที่ว่าจะนำไปใช้เป็น “น้ำแร่” สำหรับดื่มบริโภคได้หรือไม่ และจะมีราคาค่างวดเท่าไหร่ คงต้องขึ้นกับผลการวิเคราะห์ถึงปริมาณแร่ธาตุและสารปนเปื้อนต่างๆ ในนั้นครับ ถ้าเกิดมีสารเคมีที่เป็นอันตรายปนเปื้อนอยู่ (มีสิทธิสูง เพราะอยู่ในพื้นที่การเกษตรด้วย) ก็ไม่ควรนำมาบริโภคเด็ดขาดครับ

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ