วันนี้(8 ต.ค. 64) เพจ “สื่อศาล” ซึ่งเป็นเพจประชาสัมพันธ์ข่าวของศาลยุติธรรม ได้เผยแพร่บทสรุป คำพิพากษาศาลฎีกา คดีฆ่า เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย ตัวอย่างคดีศึกษาเหตุพิจารณาบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลอาญามีนบุรี ถ.สีหบุรานุกิจ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ไปตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.64 ที่ผ่านมา ระบุว่า
ตามที่ พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นโจทก์ และนายมานพ พณิชย์ผาติกรรม เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง
นายจิรศักดิ์ จำเลยที่ 1
น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2
พญ.นิธิวดี อดีตภรรยาผู้เสียชีวิต จำเลยที่ 3
นายสันติ จำเลยที่ 4
นายธวัชชัย จำเลยที่ 5
ในความผิดต่อชีวิต และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490
โดยคดีนี้ มีนางบุญคิด พณิชย์ผาติกรรม เป็นผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเป็นเงิน 4.4 ล้านบาทด้วย
สำหรับพฤติการณ์ตามฟ้องกล่าวหาว่า ระหว่างเดือน ส.ค.56 – วันที่ 19 ต.ค.56 จำเลยที่ 2, 3, 4 ได้ร่วมกันจ้างวานใช้ให้ฆ่านายจักรกฤษณ์หรือเอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย
ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1, 3, 4, 5 ว่าได้ร่วมกันกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 289(4) และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ฯ ประกอบ ป.อ.มาตรา 83 ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 5 และให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยยกฟ้องจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1, 3, 4, 5 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้กับโจทก์ร่วมและผู้ร้อง
ต่อมา โจทก์ โจทก์ร่วม ผู้ร้อง และจำเลยทั้งห้ายื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289(4) ประกอบมาตรา 84 ให้จำคุกตลอดชีวิต และให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้โจทก์ร่วมและผู้ร้องด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้องและให้ยกคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ซึ่งคดีมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค.64 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ต่อสู้ในประเด็นการร่วมจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จให้กับโจทก์ร่วมและผู้ร้องนั้น ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมชดใช้ตามจำนวนดังกล่าวนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และฎีกาข้ออื่นที่ต่อสู้ประเด็นการรับฟังคำให้การพยานที่มาลงโทษจำเลย ก็ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อย่างไรก็ดี ในส่วนของพฤติการณ์การกระทำผิดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแม่ยายผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่าเกิดจากการที่ผู้ตายกระทำต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของจำเลยที่ 2 ครั้งแล้วครั้งเล่า และบางครั้งยังกระทำต่อหน้าหลานเล็ก ๆ ของจำเลยที่ 2 อันเนื่องมาจากปัญหาการควบคุมอารมณ์ของผู้ตาย โดยก่อนเกิดเหตุมีความไม่แน่นอนว่าผู้ตายซึ่งเป็นนักกีฬายิงปืน มีอาวุธปืนอาจใช้อาวุธปืนของตนกระทำต่อจำเลยที่ 3 และครอบครัวในขณะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็เป็นได้เพราะก่อนเกิดเหตุเพียง 2 เดือนก็ยังใช้อาวุธปืนยิงไปทางคนรับใช้และบุตรคนเล็กจนผู้ตายถูกจับและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำและเพิ่งได้รับการประกันตัวมาไม่นาน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขณะเกิดเหตุเป็นหญิงมีอายุถึง 72 ปีและบัดนี้มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเข้าลักษณะของผู้กระทำความผิดที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 78 ที่ศาลอาจลดโทษได้ให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง และตาม ป.อ.มาตรา 52 “ในการลดโทษประหารชีวิตไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ลดดังต่อไปนี้… (2) ถ้าจะลดกึ่งหนึ่งให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปีถึง 50ปี” ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งในสามและคงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตด้วยเหตุเพียงคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 อีก
ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตาม ป.อ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์