‘ทวี สอดส่อง’ หนุนแก้รัฐธรรมนูญสุดตัว ชี้ 8 ปี ‘ประยุทธ์’ อมงบไว้ส่วนกลาง ไม่กระจายสู่ท้องถิ่น โอดสะเทือนใจสมาชิกรัฐสภาบางคนดูถูกประชาชน
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .. (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 มาตรา 249, มาตรา 250, มาตรา 251, มาตรา 252, มาตรา 253, มาตรา 254, มาตรา 254/1, มาตรา 254/2, มาตรา 254/3, มาตรา 254/4, มาตรา 254/5, มาตรา 254/6)
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ตนสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชน หากดูร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่งมาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2565 ได้ถูกดองไว้นาน 6 เดือน จึงอยากให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน เพราะประชาชนไม่มีเงินเดือน แต่ประชาชนต้องการมีอนาคตที่ดี มีชีวิตที่ดี เขาทราบว่าการจะทำให้อนาคตที่ดีได้จะต้องทำกติกาของประเทศให้มีความสมดุลแบ่งปันกัน นั่นคือการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 14
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า อยากจะเตือนความจำว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในคณะกรรมาธิการชุดนั้นส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในหมวดที่ 14
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า วันนี้บ้านเมืองของเรามีปัญหาต่างๆ มากมาย หมักหมมมาจนถึงวันนี้ ทั้งปัญหาความยากจน ยาเสพติด ทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาสังคมร้ายแรงอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหารัฐบาลยัดเยียดสร้างขึ้นก็มี และปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้ 4 ประการ ได้แก่ 1.เกิดจากความไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาให้ได้
2.ต้องมีการกระขยายอำนาจลงไปสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในอนาคตของตัวเองได้ นี่คือกระบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตย
3.ต้องมีความยุติธรรม เกิดมาเป็นมนุษย์จะยากดีมีจน มีฐานะร่ำรวยหรือยากจนแต่ค่าของชีวิตเท่ากันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความรักความสามัคคีก็คือการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้จงได้
และ 4.ต้องมีการปฏิรูป คำว่าปฏิรูปในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยกระบวนการสันติและประชาธิปไตย อย่างเช่นการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการปฏิรูปประเทศด้วยการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่น
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ปัญหารัฐรวมศูนย์ จะเห็นชัดเจน 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การจัดงบประมาณบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ ล่าสุดงบ 3.3 ล้านล้านบาท จำนวน 74% ไปรวมอยู่ในกรุงเทพฯ กับงบกลาง ส่วนอีก 76 จังหวัดที่มีประชากร 92% ของประเทศ มีงบเพียงแค่ 26% นี่คือรัฐรวมศูนย์ ไม่เห็นหัวประชาชน ถ้าหากมองประชาชนในประเทศเป็นพลเมืองเดียวกันเราต้องเปิดโอกาส ดังนั้นจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น แก้ระบบรัฐรวมศูนย์
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สภาผู้แทนราษฏรแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อปี 2562 ที่ตนเป็นกรรมาธิการฯ รวมอยู่ด้วย กรรมาธิการเห็นด้วยว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 เรื่ององค์กรปกครองท้องถิ่น และเห็นเพิ่มเติมว่าต้องแก้ในหมวดแนวนโยบายของรัฐเพิ่มด้วย รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายของรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ
แต่ปรากฏว่าในนโยบายของรัฐไม่มีคำว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เลย จะมีเขียนคำว่าท้องถิ่นเพียงเล็กน้อย 2 จุด ซึ่งผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการนั้นต้องแก้บทบัญญัติในหมวด 6 เรื่องแนวนโยบายของรัฐ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองท้องถิ่นด้วย ส่วนในหมวด 14 นั้นมีการเสนอไว้ 8 หัวข้อใหญ่ๆ ครอบคลุมไว้ทั้งหมด ได้แก่
1.ในรัฐธรรมนูญหมวด 14 ไม่มีทิศทางการปกครองท้องถิ่น รัฐธรรมนูญปี 2460 ขาดทิศทางไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญปี 2540-2550
2.การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปที่มีขีดจำกัดให้รายได้ท้องถิ่น จำนวนความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ความรับผิดชอบ เห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นอุปสรรคหากดูความหนาแน่นของท้องถิ่นเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นป่า 85% ประชากรจะหนาแน่นได้ยังไง ถ้าหนาแน่นก็ถูกจับ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ท่านพงศ์ศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครยะลาได้อภิปราย เป็นพื้นที่ป่า 96% ถ้าประชากรหนาแน่นก็ต้องถูกจับ
3.ความอิสระในการปกครองท้องถิ่น ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนไว้
4.เรื่องรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5.การบริการสาธารณะ หรือกิจการสาธารณะของท้องถิ่น เราศึกษาพบว่าถ้าให้ท้องถิ่นทำแค่ตั้งรับ ดูปัจจัยสี่และสาธารณูปโภคอย่างเดียวไม่พอ จะต้องดูเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ต้องพัฒนาการสร้างงาน การสร้างโอกาส ซึ่งคนที่รู้ดีที่สุดก็คือคนในท้องถิ่น และสะเทือนใจมากที่สมาชิกรัฐสภาบางคน ไปพูดดูถูกประชาชนว่ายังไม่ตื่นรู้ คือคนที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องกินภาษีอากรของประชาชน ในขณะที่ประชาชนเป็นผู้พึ่งตนเองได้
6.การกำกับดูแลและการตรวจสอบ ให้มีธรรมาภิบาลที่ดี
7.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น
8.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า พบว่าร่าง รัฐธรรมนูญฯ ที่ภาคประชาชนเสนอมานี้ มีประเด็นทั้ง 8 ประการได้ปรากฏอยู่ ควรรับหลักการไว้พิจารณา ดังนั้น ตนจึงขอสนับสนุนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง