สูงสุดกก.ละร้อย! แห่เก็บ สาหร่ายลาโตด ขายสร้างรายได้ในถิ่นปีละกว่า2ล้าน

Home » สูงสุดกก.ละร้อย! แห่เก็บ สาหร่ายลาโตด ขายสร้างรายได้ในถิ่นปีละกว่า2ล้าน


สูงสุดกก.ละร้อย! แห่เก็บ สาหร่ายลาโตด ขายสร้างรายได้ในถิ่นปีละกว่า2ล้าน

ชาวสตูลนับร้อยลงคลองหา สาหร่ายลาโตด ของเด่นในพื้นที่ สร้างรายได้ในท้องถิ่นปีละกว่า 2 ล้านบาท เผย เคยขายได้สูงสุดกิโลกรัมละ 100 บาท

วันที่ 5 เม.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความร่วมมือร่วมใจกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ตนอยู่อาศัย ในการทำมาหากินผลตอบแทนที่กลับมาจากที่ทุกคนร่วมกันทำในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า สัตว์น้ำ พืชพันธุ์ไม้น้ำให้อุดมสมบูรณ์ย่อมได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า เช่นเดียวกันกับ ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล ชาวบ้าน ม.5 และ ม.6 ต่างช่วยกันรักษาป่าชายเลนหลังหมดสัมปทานห้ามตัดไม้เผาถ่านตั้งแต่ปี 2540 ทำให้ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น

ชาวสตูลนับร้อยลงคลองหา สาหร่ายลาโตด ของเด่นในพื้นที่ สร้างรายได้ในท้องถิ่นปีละกว่า 2 ล้านบาท

ชาวสตูลนับร้อยลงคลองหา สาหร่ายลาโตด ของเด่นในพื้นที่ สร้างรายได้ในท้องถิ่นปีละกว่า 2 ล้านบาท

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่คือ สาหร่ายขนนก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “สายลาโตด” ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในคลองลุ่มหว้าในพื้นที่ ม.5 และ ม.6 ตลอดระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ช่วงนี้สาหร่ายลาโตดกำลังงอกงาม ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่และชาวบ้านต่างถิ่นเช่น อ.ควนกาหลง อ.ทุ่งหว้า อ.ละงู อ.ควนโดน และพื้นที่ต่าง ๆ จาก อ.เมือง ต่างแห่กันมาเก็บสาหร่ายลาโตด เพื่อนำไปขายสร้างรายได้

บางรายนำลูกหลานญาติพี่น้องมาเล่นน้ำในคลองและหาสาหร่ายลาโตดไปรับประทานกันในครอบครัว และแบ่งปันญาติพี่น้อง โดยแต่ละปีมีเงินสะพัดจากการหาสาหร่ายลาโตดขายปีละกว่า 2 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

นายสุรินทร์ แก้วทอง อายุ 38 ปี ชาวบ้าน ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล กล่าวว่า ตนมาหาทุกวัน พาญาติพี่น้องมาเล่นน้ำและมาหาไปกินไปแบ่งปันญาติ ๆ ที่เหลือก็นำไปขาย โดยก่อนหน้านี้ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ตอนนี้สาหร่ายมีมากเหลือกิโลกรัมละ 80 บาท ได้คนละ 10-20 กิโลกรัมต่อวัน ก็พอมีค่ากับข้าวกินแล้ว

นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า โดยตนจะเลือกเก็บเฉพาะสาหร่ายที่โตได้ขนาด ไม่เก็บสาหร่ายอ่อน เพื่อให้ได้เจริญเติบโตให้คนที่มาทีหลังได้เก็บบ้าง ขณะที่บางรายที่มาเก็บแบบขายส่งกิโลกรัมละ 50 บาทรับออเดอร์มาวันละ 35 กิโลกรัม เรียกว่านอกจากเล่นน้ำคลายร้อนแล้วมีอาหารติดไม้ติดมือกลับบ้านแถมยังมีรายได้เข้ามาอีกด้วย

ด้าน นายวินัย อำมาตย์นิติกุล นายกอบต.เจ๊ะบิลัง กล่าวว่า ความสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าชายเลนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ละวันชาวบ้าน 100-200 คนแห่กันมาหาสาหร่ายสร้างรายได้ในแต่ละปีรวมแล้วกว่า 2 ล้านบาท ในพื้นที่ อ.เมือง ต.เจ๊ะบิลัง ที่คลองแห่งนี้ถือเป็นจุดที่หาสาหร่ายกันมากที่สุด จนกลายเป็นของเด่นในพื้นที่ของดีในพื้นถิ่น เป็นสาหร่ายตามธรรมชาติที่อร่อย ไม่คาว มีความมัน กรุบกรับ และสีสวย หาได้ทุกวันในช่วงน้ำลด ระยะที่เก็บสาหร่ายตั้งแต่เดือนก.พ.-เม.ย.ของทุกปี หากช่วงไหนที่ฝนตกเร็วสาหร่ายก็จะตายและหายไป หากฝนไม่ตกสามารถเก็บได้ถึงเดือนพ.ค.

นายวินัย กล่าวต่อว่า ทางอบต.เจ๊ะบิลัง กำลังพัฒนาคลองดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนสัมผัสธรรมชาติป่าชายเลนที่สวยงาม วิถีชีวิตชาวบ้าน หาหอย หาปู และหาสาหร่าย พร้อมกินสาหร่ายสด ๆ กับน้ำจิ้มสุดอร่อยในคลอง ซึ่งสาหร่ายขนนกหรือสาหร่ายลาโตดนั้นนิยมกินสดคู่กับน้ำจิ้มถั่วที่มีรสหวานเปรี้ยวเล็กน้อยเข้ากันกับสาหร่ายที่มีความเค็มอย่างลงตัว นอกจากนี้ ยังนำไปกินคู่กับแกงเผ็ด ขนมจีนหรือส้มตำได้อย่างดี

ขณะที่ นายนที ตรีทัศน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง กล่าวว่า หลังปิดสัมปทานชาวบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายเลนและทำมาหากินในป่าชายเลน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นกุ้งหอยปูปลา มีรายได้เลี้ยงชีพ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมงและในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ก.พ.-เม.ย. จะมีสาหร่ายขนนกขึ้นงอกงาม

นายนที กล่าวต่อว่า โดยจะขึ้นตามแผ่นหินในคลอง ชาวบ้านมาเก็บไปกินไปขาย ระยะหลังมีชาวบ้านต่างถิ่นต่างอำเภอมาเก็บ เราจึงต้องวางมาตรการให้เก็บได้เฉพาะใช้มือเท่านั้นห้ามนำอุปกรณ์ คราดหรืออย่างอื่นมาเก็บ เพื่ออนุรักษ์ให้สาหร่ายได้มีอยู่ในลำคลองแห่งนี้ทุก ๆ ปี

“โดยแต่ละคนจะนำตะกร้าผูกกับขวดน้ำให้ลอย และออกมาหาในช่วงน้ำเริ่มลดเมื่อน้ำลดขนาดเท่าคอก็สามารถดำลงไปเก็บได้ แต่หากรอให้น้ำลดถึงเข่าก็สามารถก้มเก็บได้สบาย ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าวทำให้ชาวบ้านนำลูกหลานญาติพี่น้องมาเล่นน้ำและมาเก็บสาหร่ายมีรายได้วันละ 1,000-2,000 บาท โดยสาหร่ายขายส่งกิโลกรัมละ 50 บาท หากขายเองกิโลกรัมละ 80 บาท และจะมีพ่อค้ามารับถึงที่ด้วย” นายนที กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ