สมองแมวมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่เริ่มมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์เมื่อราวหมื่นปีก่อน

Home » สมองแมวมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่เริ่มมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์เมื่อราวหมื่นปีก่อน



แมวบ้านนั้นเป็นสัตว์ที่เฉลียวฉลาด แต่ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สมองของน้องเหมียวตลอดช่วง 12,000 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง โดยผลการศึกษาล่าสุดพบว่า สมองของแมวบ้านหดเล็กลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เริ่มมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์

แมวบ้านนั้นเป็นสัตว์ที่เฉลียวฉลาด แต่ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สมองของน้องเหมียวตลอดช่วง 12,000 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง โดยผลการศึกษาล่าสุดพบว่า สมองของแมวบ้านหดเล็กลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เริ่มมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากมหาวิทยาลัยเวียนนาของออสเตรีย และจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์ของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์รายงานวิจัยเรื่องดังกล่าวลงในวารสาร Royal Society Open Science โดยชี้ว่าการที่แมวป่าในยุคโบราณเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม จากการเป็นสัตว์ที่ออกล่าอย่างอิสระกลายมาเป็นแมวบ้านที่พึ่งพาอาศัยมนุษย์นั้น ส่งผลต่อวิวัฒนาการด้านขนาดของสมองแมวโดยตรง

มีการเปรียบเทียบขนาดกะโหลกศีรษะซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ขนาดของสมอง ระหว่างแมวบ้าน (Felis catus) กับแมวป่าสายพันธุ์ยุโรป (Felis silvestris) รวมทั้งกับแมวป่าแอฟริกา (Felis lybica) ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นบรรพบุรุษของแมวบ้านในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าแมวบ้านมีขนาดของกะโหลกศีรษะและสมองเล็กกว่าแมวป่าทั้งสองสายพันธุ์

  • แมวของคุณผิดปกติทางจิตหรือเปล่า ?
  • แมวบ้านไม่ยอมสนใจอาหาร หากต้องทำสิ่งเหนื่อยยากแลกมา
  • งานวิจัยวิทยาศาสตร์ 8 เรื่อง ที่จะทำให้คุณเข้าใจน้องเหมียวมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการศึกษากะโหลกศีรษะของแมวลูกผสมระหว่างแมวบ้านและแมวป่าสายพันธุ์ยุโรป ทำให้พบว่าขนาดของสมองในแมวลูกผสมนั้นอยู่ในช่วงค่าเฉลี่ยระหว่างขนาดกะโหลกศีรษะของแมวที่เป็นพ่อแม่พอดี ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าการที่มนุษย์นำแมวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมองแมวหดตัวเล็กลงได้

การค้นพบล่าสุดนี้พิสูจน์ยืนยันข้อสันนิษฐานเรื่องแมวบ้านมีขนาดสมองเล็กลงกว่าเดิม ซึ่งมีมานานตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960-1970 ว่ามีความถูกต้อง โดยกรณีศึกษาของแมวบ้านนั้นคล้ายคลึงกับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ อีกหลายชนิดเช่น แกะ สุนัข และกระต่าย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันมีสมองหดเล็กลงกว่าบรรพบุรุษ เมื่อถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้เช่นกัน

Getty Images

ทีมผู้วิจัยยังสนับสนุนข้อสันนิษฐานจากแนวคิดดั้งเดิมข้างต้น ที่มองว่าการคัดเลือกพันธุ์สัตว์เลี้ยงโดยมนุษย์ ซึ่งใช้นิสัยของแมวที่เชื่องและไม่ดุร้ายมาเป็นเกณฑ์ ทำให้แมวบ้านในปัจจุบันมีเซลล์ประสาทที่เรียกว่า neural crest cells ลดลงอย่างมาก โดยเซลล์ชนิดนี้จะเชื่อมโยงกับกลไกกระตุ้นให้เกิดความกลัวและตื่นเต้น รวมทั้งส่งผลต่อพฤติกรรมตอบสนองกับความเครียด ขนาดของสมอง และสัณฐานวิทยา (morphology) ของร่างกายแมวบ้านโดยรวมด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดนี้คัดค้านแนวคิดที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งมองว่าแมวบ้านยังมีความเป็นสัตว์ป่าติดตัวอยู่และยังไม่ถูกเปลี่ยนให้เป็นสัตว์เลี้ยงโดยสมบูรณ์ (semi-domesticated)

“แม้จะดูเหมือนว่าบรรพบุรุษของแมวบ้านเลือกเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ด้วยตัวของมันเอง ทำให้แมวไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่งและทำทุกอย่างตามอำเภอใจ แต่ผลการศึกษาของเรากลับชี้ว่า แมวได้ปรับเปลี่ยนตัวเองในหลายด้านเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์ นอกจากพฤติกรรมการล่าที่เป็นประโยชน์แล้ว แมวยังมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมอง ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และอุปนิสัยที่เหมาะสมจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางใจต่อคนเราด้วย” ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุป

………………………………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ