รู้จัก "โรคหลงตัวเอง" ปัญหาสุขภาพจิตร้ายๆ ที่อาจทำลายความสัมพันธ์กับคนข้างตัว

Home » รู้จัก "โรคหลงตัวเอง" ปัญหาสุขภาพจิตร้ายๆ ที่อาจทำลายความสัมพันธ์กับคนข้างตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกที่มีคนหลากหลาย การได้พบปะผู้คนที่มีความแตกต่างจากตัวเราเองก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แต่หลายครั้งการได้เจอคนที่ไม่เคยยอมรับผิดหรือหลงตัวเอง ก็ทำให้เรารู้สึกเข็ดขยาด จนไม่อยากพบเจอคน “นิสัยไม่ดี” เหล่านี้อีกแล้ว อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้อาจจะไม่ได้นิสัยไม่ดี แต่พวกเขากำลัง “ป่วย” อยู่ต่างหาก Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จัก “โรคหลงตัวเอง” ปัญหาสุขภาพจิตร้ายๆ ที่สามารถทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างรุนแรง 

“โรคหลงตัวเอง” คืออะไร

โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD) เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหนึ่ง คนที่เป็นโรคนี้มักแสดงออกว่าเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมรับคนอื่น และอาจนำไปสู่พฤติกรรมต่อต้านสังคม โดยพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคหลงตัวเองนั้น อาจโอ้อวดตัวเอง เรียกร้องความสนใจ ดูถูกดูแคลนคนอื่น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ หรือบังคับคนอื่นให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เป็นต้น 

สาเหตุของโรคหลงตัวเองนั้น อาจมาจากพันธุกรรมหรือปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมตัวตนของคนนั้นๆ มาตั้งแต่เด็ก โดยนักจิตวิทยาได้แบ่งกลุ่มโรคหลงตัวเองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 

  • คนหลงตัวเองเนื่องจากรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง และอ่อนไหว (Valnerable Narcissist) 
  • คนหลงตัวเองโดยยกตัวเองให้เหนือผู้อื่น (Grandiose Narcissist) 

โรคหลงตัวเองสู่ “การต่อต้านสังคม”

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า คนที่เป็นโรคหลงตัวเองกลุ่มที่ชอบยกตัวเองให้เหนือกว่าผู้อื่นนั้น เป็นหนึ่งในโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) คือไม่มีความรู้สึกผิด ไม่รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไป หลายครั้งเรียกว่า ไซโคพาธ (Psychopath) ซึ่งจะมีพฤติกรรมรุนแรง เช่น โกหก ข่มขู่ ด้อยค่า ให้ร้าย ควบคุมทางใจ หรือทำร้ายร่างกาย เพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

โรคหลงตัวเองจึงเป็นปัญหาสำคัญในความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างรุนแรง เช่น ทำให้คนรอบข้างสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน และในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดความหวาดระแวง วิตกกังวล และอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกายตัวเองได้เช่นกัน 

วิธีสังเกตโรคหลงตัวเอง

คนที่ป่วยเป็นโรคหลงตัวเอง มักให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าคนอื่น กล่าวคือไม่สนใจความรู้สึกหรือความต้องการของคนรอบข้าง แต่คาดหวังว่าตัวเองจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่า นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นได้ เช่นเดียวกับชอบดูถูกคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า 

ทั้งนี้ คนที่เป็นโรคหลงตัวเองอาจมีอาการ (บางข้อหรือทุกข้อ) ดังต่อไปนี้

  • บูชาวัตถุ โออ้วดตัวเองผ่านวัตถุต่างๆ 
  • หลงในรูปลักษณ์ของตัวเอง
  • คิดว่าตัวเองมีอำนาจ ประสบความสำเร็จ ฉลาด หรือมีเสน่ห์มากกว่าคนอื่น
  • คิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ รู้จักคนมีชื่อเสียง หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีชื่อเสียง
  • ต้องการให้คนอื่นชื่มชมตลอดเวลา และชอบเป็นศูนย์กลางความสนใจ
  • ชอบเอาเปรียบคนอื่น

  • ไม่เข้าใจความรู้สึก ความต้องการ หรือความจำเป็นของคนอื่น
  • อิจฉาคนอื่น และคิดว่าคนอื่นอิจฉาตัวเอง
  • ไม่ชอบถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ฟังคำพูดของคนอื่น แต่คนอื่นต้องฟังคำพูดของตัวเอง
  • เย่อหยิ่ง ไม่ยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น
  • อยู่ร่วมกับคนอื่นยาก 
  • มักเล่นบทเหยื่อให้คนรอบข้างรู้สึกสงสาร

การรับมือกับโรคหลงตัวเอง

การรักษาโรคหลงตัวเองไม่สามารถทำได้ด้วยการใช้ยา แต่ทำได้ด้วยการทำจิตบำบัดหรือการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยได้เปิดใจเล่าเรื่องของตัวเอง เช่นเดียวกับเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยจำเป็นต้องยอมรับก่อนว่าตัวเองมีความผิดปกติ เพื่อเปิดใจและรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังต้องอดทนและใจเย็น เพราะการรักษาโรคทางจิตใจต้องใช้เวลาในการเยียวยา อาจกล่าวได้ว่าจิตใจที่โดนทำร้ายมานานหลายปี จึงไม่สามารถรักษาให้หายได้ในชั่วข้ามคืน เช่นเดียวกับการซัพพอร์ตจากคนรอบข้างที่เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตาม การอยู่กับคนเป็นโรคหลงตัวเองก็อาจสร้างปัญหาให้คนรอบข้างได้เช่นกัน ดังนั้น คนรอบข้างจึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีในการสร้างเกราะป้องกันให้กับตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเป็นทุกข์ในระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังอยู่ในขั้นตอนการรักษา ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้ 

  • สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง เมื่อจิตใจและ Self-esteem แข็งแรง ก็จะไม่มีใครสามารถทำร้ายจิตใจของเราได้
  • ไม่รับคำสัญญา แต่ดูที่การกระทำ อย่าเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของผู้ป่วย เพราะนั่นเป็นหนึ่งในอาการของเขาเช่นกัน แต่ให้เชื่อมั่นในพฤติกรรมและการกระทำของพวกเขา 
  • เห็นใจแต่ไม่ตามใจ แน่นอนว่าผู้ป่วยน่าสงสาร แต่คนรอบข้างไม่ควรให้ท้าย เป็นห่วงเป็นใยได้ แต่ไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมแบบเดิมๆ 
  • ถอยหลังเมื่อจำเป็น หากรู้สึกว่าพฤติกรรมของผู้ป่วยเยอะเกินกว่าตัวเองจะรับไหว คนรอบข้างต้องรู้ว่าเมื่อไรควรถอยออกมาตั้งหลัก หรือเลือกจบความสัมพันธ์นั้นไปเลย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ