ปรับเมต้าอ่วม4.4หมื่นล้าน ปมข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กยุโรป-หวั่นสหรัฐสอดแนม

Home » ปรับเมต้าอ่วม4.4หมื่นล้าน ปมข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กยุโรป-หวั่นสหรัฐสอดแนม



ปรับเมต้าอ่วม4.4หมื่นล้าน ปมข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กยุโรป-หวั่นสหรัฐสอดแนม

ปรับเมต้าอ่วม4.4หมื่นล้าน – วันที่ 22 พ.ค. รอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมาธิการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่ไอร์แลนด์ มีคำสั่งลงโทษปรับ “เมต้า” ผู้ให้บริการเฟซบุ๊กเป็นเงิน 1.2 พันล้านยูโร หรือกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโทษปรับมูลค่าสูงสุดเท่าที่เอกชนไอทีเคยเผชิญมา

โทษปรับดังกล่าวของคกก.ไอร์แลนด์ หรือดีพีซี เกิดขึ้นหลังเมต้าล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปเมื่อปี 2563 ที่ให้ยุติความร่วมมือการส่งข้อมูลระหว่างยุโรปกับสหรัฐอเมริกา โดยดีพีซียังขีดเส้นตายให้เมต้าต้องยุติการโอนถ่ายข้อมูลภายใน 5 เดือน

ค่าปรับของดีพีซีนั้นนับว่าสูงที่สุดเท่าที่ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีเผชิญมา สูงยิ่งกว่าค่าปรับที่แอมะซอนเคยถูกลงสั่งลงโทษมูลค่า 746 ล้านยูโร หรือกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2564

คดีความการต่อสู้เรื่องความปลอดภัยข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในทวีปยุโรปเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน มีจุดเริ่มต้นจากนายแม็กซ์ เชร็มส์ นักรณรงค์ชาวออสเตรีย ฟ้องร้องต่อทางการโดยระบุถึงความเสี่ยงที่ชาวยุโรปอาจถูกสำนักงานความมั่นคงสหรัฐฯ หรือเอ็นเอสเอล้วงข้อมูล ตามที่นายเอ็ดเวิร์ด สโนวเด็น อดีตลูกจ้างเอ็นเอสเอ ออกมาเปิดเผยต่อประชาคมโลก

ด้านเมต้า ระบุว่า จะเดินหน้าสู้คดีในศาลชั้นอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากมองว่าเป็นโทษปรับที่ไม่จำเป็นและเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่อันตรายต่อเอกชนด้านไอทีรายอื่น นอกจากนี้ เมต้าจะขออำนาจศาลให้ระงับคำสั่งดีพีซีชั่วคราวด้วยระหว่างต่อสู้คดี

เมต้า ระบุด้วยว่า ทางการอียูจะเดินหน้าจัดทำกรอบความร่วมมือด้านข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯใหม่โดยเร็ว มิฉะนั้นเมต้าอาจต้องตัดสินใจระงับการให้บริการเฟซบุ๊กในชาติอียูชั่วคราว เพราะข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กนั้นปัจจุบันถูกจัดเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลสหรัฐฯ

ขณะที่ดีพีซี ชี้แจงว่า กรอบความร่วมมือด้านข้อมูลฉบับใหม่ที่ทางการอียูและสหรัฐฯตกลงกันไว้น่าจะเสร็จสมบูรณ์และมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนก.ค.นี้ หลังศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปให้ยุติความร่วมมือ 2 ฉบับก่อนหน้า เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการถูกสอดแนมจากสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ค่าปรับล่าสุดของดีพีซี ส่งผลให้เมต้าเคยถูกสั่งปรับจากคกก.เดียวกันนี้รวมถึง 2.5 พันล้านยูโร หรือกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุละเมิดข้อบังคับเพื่อปกป้องข้อมูลทั่วไปของอียู

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ