หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.มากที่สุดจากการเลือกตั้ง พร้อมหัวหน้าและแกนนำ 8 พรรค ลงนามข้อตกลงร่วม หรือเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 ตรงกับวันครบรอบ 9 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.2557
พรรคแกนนำระบุสาเหตุที่เลือกวันดังกล่าว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์จากเดิมที่เป็นวันทำให้ประเทศถอยหลัง แต่จะเริ่มต้นใหม่เพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปอยู่จุดเดิมอีก
ในห้วงวันเวลาไล่เลี่ยกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการ และในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงวันครบรอบ โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เขาลืมกันไปแล้ว 9 ปี”
เป็นคำตอบน่าฉุกคิด และเกิดคำถามตามมา สังคมส่วนใหญ่ลืมรัฐประหารเมื่อ 9 ปีที่แล้วจริงหรือไม่
ตลอด 9 ปี ประชาชนต่างตระหนักแล้ว การรัฐประหารไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่ทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ อำนาจของพวกพ้อง และบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
เป็นการล้มคว่ำประชาธิปไตย ทำลายสิทธิเสรีภาพประชาชน อีกทั้งยังกระทบลุกลามด้านเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง การทำมาหากินอย่างแสนสาหัส
ไม่เท่านั้นยังมีประชาชนจำนวนมากถูกจับกุมดำเนินคดี บางรายต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ถูกอุ้มหายเสียชีวิตมีเงื่อนงำ ชาวบ้านตามชนบทป่าเขาถูกรัฐบาลทหารไล่ออกจากพื้นที่ดินทำกิน และถูกดำเนินคดีซ้ำมากถึง 3-4 หมื่นราย
นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร และยังต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมไม่มีทางลืมรัฐประหาร
ฉันทามติประชาชนจากการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ที่เทคะแนนให้พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐประหาร สะท้อนถึงความต้องการประชาธิปไตยที่มากขึ้น และไม่ลืมรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน
ตลอดจนต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร รวมไปถึงพรรคที่ได้ประโยชน์รัฐประหาร เป็นนั่งร้านสนับสนุน หรือแอบอิงเครือข่ายอำนาจนิยม กลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีก
คำตอบของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ระบุว่าเขาลืมกันไปแล้ว จึงไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ซึ่งสังคมไม่ลืม และพร้อมที่จะใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยตอบโต้ให้บทเรียน
นอกจากไม่ลืมแล้ว ยังเรียกร้องให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2557 และดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องให้เป็นเยี่ยงอย่างด้วย