ซัลมัน รัชดี นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ถูกแทงในนิวยอร์ก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ-พูดไม่ได้

Home » ซัลมัน รัชดี นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ถูกแทงในนิวยอร์ก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ-พูดไม่ได้



ซัลมัน รัชดี นักเขียนชื่อดัง ถูกแทงในนิวยอร์ก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ-พูดไม่ได้

วันที่ 13 ส.ค. บีบีซี รายงานความคืบหน้ากรณีที่ ซัลมัน รัชดี นักเขียนสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ เชื้อสายอินเดีย ที่ถูกมือมีดแทงอย่างอุกอาจขณะให้สัมภาษณ์บนเวทีเสวนา ที่สถาบันชาโตกัว ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่น

Author Salman Rushdie is helped by people after he was stabbed on stage before his scheduled speech at the Chautauqua Institution, Chautauqua, New York, U.S., August 12, 2022, in this picture obtained from social media. Charles Savenor/LOCAL NEWS X/TMX/via REUTERS

ล่าสุด นายแอนดรูว์ ไวลี ตัวแทนของนายรัชดีแจ้งข่าวที่ไม่ดีว่า ระบุในแถลงการณ์ว่า นักเขียนผู้นี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและไม่สามารถพูดได้ และเสริมว่า นายรัชดีอาจสูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง เส้นประสาทที่แขนถูกตัดขาด และตับถูกแทงและเสียหาย

ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย คือ นายฮาดี มาตาร์ อายุ 24 ปี จากเมืองแฟร์วิว รัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่ยังไม่ได้ระบุแรงจูงใจหรือตั้งข้อหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอหมายค้นเพื่อตรวจสอบกระเป๋าสะพายหลังและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตำรวจพบที่จุดเกิด

เฮลิคอปเตอร์

REUTERS

ตำรวจระบุว่า ผู้ต้องสงสัยวิ่งขึ้นไปบนเวทีและทำร้ายนายรัชดี และพิธีกรผู้สัมภาษณ์ นายรัชดีถูกแทงอย่างน้อย 1 ครั้ง ในลำคอและช่องท้อง นายรัชดีถูกนำส่งไปโรงพยาบาลในเมืองอีรี รัฐเพนซิลเวเนีย ด้วยเฮลิคอปเตอร์ ส่วนพิธีกรผู้สัมภาษณ์คือ นายเฮนรี รีส ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ให้บริการที่พักพิงแก่นักเขียนพลัดถิ่นภายใต้การคุกคามของการประหัตประหาร ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่ศีรษะ ถูกนำส่งไปโรงพยาบาลในพื้นที่

ตำรวจระบุว่า พนักงานและผู้เข้าร่วมฟังเสวนาวิ่งขึ้นไปบนเวทีเพื่อรวบตัวผู้ก่อเหตุและจับกดลงกับพื้นก่อนตำรวจมาจับกุม และช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งสอง และว่าแพทย์คนหนึ่งที่เข้าร่วมฟังเสวนาให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่นายรัชดี เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏในวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์

ซัลมัน รัชดี

FILE PHOTO: British author Salman Rushdie listens during an interview with Reuters in London April 15, 2008. REUTERS/Dylan Martinez/File Photo

นายรัชดีมีชื่อเสียงโด่งดังจากนวนิยาย ทารกเที่ยงคืน ในปี 2524 ซึ่งขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่มในสหราชอาณาจักรเพียงประเทศเดียว อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มที่สี่ของนายรัชดีในชื่อ โองการปีศาจ (The Satanic Verses) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2531 ทำให้นักประพันธ์ผู้นี้ต้องหลบซ่อนตัวเป็นเวลาเกือบสิบปีจากคำขู่ฆ่าของมุสลิมหัวรุนแรง

หลังนวนิยายแนวเซอร์เรียลลิสต์หลังสมัยใหม่เล่มนี้สร้างวามไม่พอใจในหมู่มุสลิมบางคน ซึ่งถือว่า เนื้อหาดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นศาสนา และถูกห้ามจำหน่ายในบางประเทศ ตามมาด้วยเหตุจลาจลต่อต้านนายรัชดีในอินเดียที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสถานทูตอังกฤษประจำกรุงเตหะรานถูกขว้างปาก้อนหินใส่

ซัลมัน รัชดี

An Indian Muslin wearing a mask of Rushdie was one of many protesting the author’s presence in Bombay in January 2004

1 ปีหลังนวนิยายเล่มนี้เผยแพร่ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เรียกร้องการประหารชีวิตนายรัชดี โดยเสนอรางวัลเป็นเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 253,194 ล้านบาท ในค่าเงินปัจจุบัน) ตามฟัตวา กฤษฎีกาทางกฎหมายที่ผู้นำศาสนาอิสลามเป็นคนออก

ค่าหัวของนายรัชดียังมีผลถึงวันนี้ และแม้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะเมินเฉยคำสั่งของโคมัยนีมาตลอด แต่ในปี 2555 มูลนิธิศาสนากึ่งทางการแห่งหนึ่งของอิหร่านยังเพิ่มค่าหัวอีก 500,000 ดอลลาร์ (ราว 22 ล้านบาทในค่าเงินปัจจุบัน)

 

ต่อมา เมื่อปี 2534 นักแปลชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่แปลนวนิยายเล่มนี้ถูกแทงเสียชีวิต ขณะเดียวกัน ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น นักแปลชาวอิตาลีคนหนึ่งถูกแทงเช่นกัน และนายวิลเลียม นีโกร์ด ผู้ตีพิมพ์นวนิยายเล่มนี้ฉบับภาษานอร์เวย์ ถูกยิง แต่ทั้งคู่รอดชีวิต

นายนีโกร์ดกล่าวหลังเหตุการณ์ที่นายรัชดีถูกแทงว่า นายรัชดีเป็นนักประพันธ์ชั้นนำที่มีความหมายอย่างมากต่อวรรณกรรมซึ่งทุ่มเทอย่างมากกับผลงานของเขา

 

นอกจากนี้ เมื่อปี 2550 เกิดการประท้วงในอิหร่านและปากีสถาน หลังนายรัชดีได้รับพระราชทานตำแหน่งอัศวินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง และรัฐมนตรีคนหนึ่งในปากีสถานถึงกับเอ่ยปากว่า การถวายเกียรติยศดังกล่าวสมควรถูกโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย

แม้ว่าการจัดงานวรรณกรรมหลายครั้งที่นายรัชดีเข้าร่วมจะถูกข่มขู่และคว่ำบาตร แต่นายรัชดียังเขียนนวนิยายต่อไป และผลงานต่อไปคือ Victory City ซึ่งมีกำหนดตีพิมพ์ในเดือนก.พ. 2566

 

ทั้งนี้ นายรัชดี พลเมืองสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ เกิดมาในครอบครัวมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดศาสนาในอินเดีย และประกาศตัวเป็นผู้ไม่มีศาสนา และกลายเป็นแกนนำผู้เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก โดยปกป้องผลงานของเขาหลายครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ