ขนาดนกยังร่วง! วิกฤตฝุ่นพิษ "นกตะขาบดง" ปอดอักเสบรุนแรง จาก ฝุ่น PM 2.5

Home » ขนาดนกยังร่วง! วิกฤตฝุ่นพิษ "นกตะขาบดง" ปอดอักเสบรุนแรง จาก ฝุ่น PM 2.5



ขนาดนกยังร่วง! คุณภาพอากาศในประเทศน่าเป็นห่วง ติดท็อปเมืองมลพิษมากที่สุดของโลก วิกฤตฝุ่นพิษ “นกตะขาบดง” ปอดอักเสบรุนแรง จากฝุ่น PM 2.5 วอนภาครัฐออกมาจัดการ

วันนี้ (10 มี.ค. 66) เวลา 07.00 น. รายงานจาก ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่าภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศ พบเกินค่ามาตรฐานใน 39 จังหวัด กินพื้นที่เกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นบริเวณภาคใต้

อีกทั้งข้อมูลบน เว็บไซต์ IQAir เวลา 11:09 น. ยังรายงานว่า ประเทศไทยติดท็อปเมืองมลพิษมากที่สุดของโลก โดยจังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับที่ 4 ของโลก และ กรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 16 ของโลก

ภาพประกอบ

ภาพประกอบ จาก ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

นับว่าเป็นวิกฤตที่น่าเป็นห่วง สำหรับคุณภาพอากาศในประเทศไทยตอนนี้ แพทย์เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

ไม่เพียงแค่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตฝุ่นพิษเท่านั้น แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 66 ผู้ใช้ Facebook ชื่อ “Save Gurney Pitta” ได้ออกมาโพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า

“วันนี้อากาศในกรุงเทพฯ แย่มาก ปกคลุมไปด้วย PM 2.5 เข้มข้น ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในเมือง

ยกตัวอย่างเช่น นกตะขาบดง Oriental Dollarbird ตัวเต็มวัยในภาพนี้ ซึ่งเป็นนกขนาดกลาง ลำตัวมีหลากสี สวยมาก ปกติเป็นนกที่พบตามป่า บางครั้งก็อพยพผ่านกรุงเทพ พบได้ในหลายพื้นที่ และน่าจะเป็นชนิดย่อย Eurystomus orientalis cyanicollis ที่พบทางภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้

นกตัวนี้ อ่อนแรงและตกลงมาหน้าบ้านหลังหนึ่ง บริเวณใกล้สวนลุมพินี กลางเมืองกรุงเทพเลย โชคดีที่มีคนใจดีนำมาพบสัตวแพทย์ จากถ่ายภาพทางรังสีวิทยาพบว่า “กระดูกหักตามร่างกายไม่หัก แต่ปอดอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง” ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการป่วยนี้

นกตัวนี้น่าจะรู้สึกแสบตา แสบคอ หายใจไม่ถนัด สุดท้ายร่างกายแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ลดลง จนร่างกายอ่อนแรง วิงเวียน หน้ามืดแล้วก็ตกลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งอาการนี้ก็จะเกิดในคนเช่นเดียวกัน

และนี่คือตัวชี้วัด “คุณภาพอากาศในเขตเมือง” ได้เป็นอย่างดี

เพราะทุกอย่างมันจะเวียนกลับมาที่มนุษย์ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหานี้ แต่สรรพสัตว์ที่ตัวเล็กกว่า จะได้รับผลกระทบและแสดงอาการป่วยให้เห็นชัดเจนก่อน”

ภาพประกอบ จาก น.ส.ณัฐรุรี คำชมภู นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ

ภาพประกอบจาก น.ส.ณัฐรุรี คำชมภู นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ทางเจ้าของโพสต์ ยังทิ้งท้ายข้อความไว้ว่า “ทั้งหมดนี้ก็อยากจะขอเตือนดัง ๆ ไปอีกที ให้ทุกคนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โปรดหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัว และช่วยกันแก้ไขเท่าที่ตนจะทำได้ให้มากที่สุด ขอร้องล่ะ เพราะธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนมาอย่างชัดเจนแล้ว!!!”

(ภาพ: น.ส.ณัฐรุรี คำชมภู นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ)

ที่มา : Save Gurney Pitta

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ