วุฒิสภา คลอดกฎหมายฉีดไข่ให้ฝ่อ ป้องกันกระทำผิดทางเพศซ้ำซาก กมธ.แจงปัจจุบันยาที่ใช้รักษาคือ ยาลดฮอร์โมนเพศชาย ต้องฉีดทุก 3เดือน
เมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ…. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ประธานกมธ. ในวาระ 2-3
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มี 43 มาตรา กมธ.มีการแก้ไข 12 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ที่แม้จะถูกจำคุกพ้นกำหนดโทษ ได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว แต่มีผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งมีแนวโน้มทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีก จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
โดยกำหนดให้มี ทั้งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะมีมาตรการทางการแพทย์สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย(ฉีดให้ฝ่อ) แก่ผู้กระทำผิด หากเห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2คน เห็นพ้องกันและได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด และให้นำผลการใช้มาตรการทางการ แพทย์ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ส.ว.อภิปรายร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา21 เรื่องมาตรการทางการแพทย์ที่เปิดช่องให้มีการฉีดยาลดฮอร์โมนเพศแก่ผู้กระทำผิด มีส.ว.ให้ความสนใจอภิปรายหลายคน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังติดใจว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ อาทิ
พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า การฉีดยาให้ฝ่อถือเป็นความลำบากของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการฉีดให้ฝ่อไว้ คงไม่มีแพทย์คนใดทำให้แน่ หากจะทำได้แพทยสภาต้องไปออกหลักการในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้รองรับไว้ก่อน รวมถึงมาตรา21 ระบุอีกว่า การฉีดให้ฝ่อจะกระทำได้ หากผู้กระทำผิดหรือเว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อยากทราบคำว่า “กฎหมายระบุไว้เป็นอย่างอื่น” คืออะไร เพราะเหมือนเขียนแบบตีเช็กเปล่า เปิดช่องให้ผู้กระทำผิดถูกฉีดยา แม้ไม่ยินยอมก็ตาม
ขณะที่นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. อภิปรายว่า การฉีดยาดังกล่าวไม่ได้หมายถึงทำให้ไข่ฝ่อ แต่เป็นยาลดฮอร์โมนทางเพศ หลายคนบอกไม่ได้อยากทำผิด แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เวลาเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จึงอยากให้ช่วยให้ควบคุมตัวเองได้ ส่วนข้อสงสัยว่า ผู้กระทำความผิดต้องยินยอมให้ฉีดจึงจะกระทำได้ แล้วจะมีคนยินยอมให้ฉีดหรือไม่นั้น เชื่อว่ามีคนยินยอม โดยคนที่ยินยอมให้ฉีดคือ คนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้จะยินยอมให้ฉีด รวมถึงถ้ายินยอมให้ฉีดจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง ทำให้มีโอกาสได้รับความยินยอม
นายสุรชัย ในฐานะประธานกมธ.ชี้แจงว่า ข้อกังวลถึงวิธีการรักษาด้วยรูปแบบอื่นนั้น ไม่ใช่การใช้วิธีการรุนแรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ป่วยอย่างที่อภิปรายกัน แต่ต้องเป็นวิธีการที่ผ่านความเห็นชอบจากผู้วิชาชีพประกอบเวชกรรม ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 คน ต้องเห็นพ้องต้องกัน และต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ อย่างน้อยสาขาละ 1 คน จึงไม่ต้องกังวล และการจะดำเนินการทั้งหมดต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย
ด้านพล.อ.นพ.ไตรโรจน์ ครุทเวโช ส.ว.ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาคือยาลดฮอร์โมนเพศชาย เพื่อกดการสร้างฮอร์โมน์ที่ต้องฉีดทุก 3เดือน แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ทำให้ไข่ฝ่อจริงหรือไม่ แต่ต่อไปจะมียากินที่ขณะนี้พบว่า ช่วยลดพฤติกรรมผิดปกติได้ ส่วนกรณีที่ยังไม่มีการออกกฎหมายรองรับให้แพทย์ฉีดยาให้ฝ่อนั้น ทั้งนี้เชื่อว่า หลังกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ทางแพทยสภาจะไปออกกฎหมาย เพื่อรองรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป
โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 137 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
หลังที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวางพิจารณาครบทั้ง 43 มาตราแล้ว
จากนั้นเวลา 17.10 น.ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบด้วยคะแนน 145 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นส่งให้ ครม.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป