ใบตองแห้ง – ชัชชาติ=สายกลาง?

Home » ใบตองแห้ง – ชัชชาติ=สายกลาง?


ใบตองแห้ง – ชัชชาติ=สายกลาง?

“ชัชชาติฟีเวอร์” ยังไม่จบ นัดพบนักข่าวช้า 2 ชั่วโมงเพราะมีแต่คนขอเซลฟี่ ขณะที่ประยุทธ์น้อยใจ อ่านกระดาษเปล่าบนเครื่องบินก็โดนจับผิด

ข่มกันมิด ทั้งที่มา บุคลิก ท่าที มองแป๊บเดียวก็เปรียบเทียบได้ ชัชชาติทำตัวเป็นผู้รับใช้ ผู้ให้บริการประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้านาย เป็นบิดา สอนสั่ง ไม่เชื่อฟังก็หวดไม้เรียว

อย่างไรก็ดี ชัยชนะของชัชชาติทำให้เกิดข้อถกเถียงมุมกลับ ชัชชาติชนะใจคนในขั้วตรงข้ามเพราะสร้างความเชื่อมั่นว่า เป็นอิสระ และจะสามารถทำงานๆๆ ร่วมกับทุกฝ่าย โดยก้าวข้ามความขัดแย้ง (เช่นล่าสุดก็จะร่วมงานกับรองผู้ว่าฯ ลูกหม้อและรองหัวหน้าพรรคกล้า)

ซึ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า อย่าเดินแนวทาง “ซ้ายจัด” และหากฝ่ายประชาธิปไตยอยากชนะการเมืองระดับชาติก็ต้องเดินแนวทางประนีประนอม อย่าชวนทะเลาะ “เชิงโครงสร้าง”

คำวิจารณ์นี้เหมือนจะพุ่งไปที่พรรคก้าวไกล วิโรจน์ “ทวงคืนสนามหลวง” ทั้งยังมองว่านั่นเป็นเหตุให้คะแนนวิโรจน์หายไป 2 แสนกว่าจากคะแนนเลือก ส.ก.

ซึ่งไม่น่าใช่ น่าจะเป็นเพราะความกลัวสลิ่มรวมกันได้ และการประเมินว่ายังไงๆ ชัชชาติก็นำวิโรจน์ จึงเทให้ชัชชาติชนะไว้ก่อน พร้อมทั้งตัวชัชชาติเองก็เป็นที่ชื่นชมในฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าพรรคไหน (เปลี่ยนเป็นคนอื่น ก็ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์จะได้ผล)

ถ้าลองเปรียบเทียบแนวทางระหว่างวิโรจน์กับชัชชาติอย่างหยาบๆ คือวิโรจน์นั้น “พุ่งชน” มุ่งแก้ปัญหาเชิงระบบ ขณะที่ชัชชาติแก้ปัญหาจาก “เส้นเลือดฝอย” อย่างอดทน

ชัชชาติเคยอธิบายว่าตนเองไม่ได้ประนีประนอม ยืนสู้ตลอดมา “การชนมันไม่ได้หมายความว่าเราต้องพูดว่าชนหรอก ผมว่าการชนมันคือชนในหลักการ ชนในวิธีปฏิบัติ การครองตัว”

คำอธิบายนี้ได้ใจคนชั้นกลางฟีลกู๊ด แต่ต้องเข้าใจความอดทนของชัชชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในการวางตัวมาหลายปีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

ในสองแนวทางต่างมุมมอง คนทั่วไปอาจเห็นด้วยกับชัชชาติ แต่ถ้าจะวัดความสำเร็จคือ ชัชชาติต้องเริ่มจาก “เส้นเลือดฝอย” แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบใน 4 ปี ไม่เช่นนั้น หลังพ้นตำแหน่ง ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม

สิ่งสำคัญประการแรกก่อนตัดสินว่าแนวทางไหนถูก คือต้องเข้าใจว่า อำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.นั้น เป็นงาน Customer Service เสียส่วนใหญ่ เป็นงานขอความร่วมมือ ไม่ใช่งานที่ต้องพุ่งชนใคร ในแง่นี้อาจบอกว่าก้าวไกล “ทวงคืนสนามหลวง” ตั้งเป้าเกินความต้องการประชาชน แต่กลับกัน ถ้าคุณจะเป็นรัฐบาล คุณไม่พุ่งชนไม่ได้ อย่างน้อยคุณก็ต้องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระทรวงศึกษา รื้อการปกครองส่วนภูมิภาค ฯลฯ

คุณไม่สามารถฟีลกู๊ดกับโฆษณา Dove โดยไม่พุ่งชนระบบการศึกษาล้าหลัง

เรื่องขำๆ คือไม่ใช่แค่ก้าวไกลที่โดนกระทบจากชัชชาติฟีเวอร์ มีคนมองด้วยว่าถ้าจะเอาชนะเลือกตั้งอาจต้องมีพรรคประชาธิปไตยทางสายกลาง ไม่ใช่ก้าวไกลที่ซ้ายจัด ไม่ใช่เพื่อไทยที่โดนอคติเหมือนมีชนักโทนี่ปักหลัง ซึ่งตลก ทั้งเป็นไม่ได้ในความจริง (จะเอาไทยสร้างไทย? สร้างอนาคตไทย?) และต้องถามว่าผิดตรงไหน เพื่อไทย โทนี่ เสื้อแดง ถูกกระทำมา 16 ปี ย่อมมีความคับแค้นมีหนี้เลือดหนี้ทุกข์ทรมานจากรัฐประหารและความอยุติธรรม

จะบอกว่าลืมเสียเถอะ เราจะชนะเลือกตั้งเพื่อปากท้อง ไม่จ้องรื้อโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้บ้านเมืองวุ่นวาย บลาๆๆ นั่นต่างหากที่เพื่อไทยกำลังถูกวิจารณ์

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องหัวร้อนพุ่งชน คุณสามารถมีผู้นำที่หนักแน่นมั่นคง ประนีประนอมบางอย่างแต่ยึดมั่นหลักการ เพราะรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ต่างหาก ทำลายหลักการ ทำลายประชาธิปไตย จะบอกให้ “พบกันครึ่งทาง” แบบไทยๆ ไม่มีทางเป็นไปได้

ปัญหาของประเทศคือ รัฐประหาร 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปลี่ยนความหมายของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้ความเป็นประชาธิปไตยถูกกดลดต่ำลง มันจึงเกิดแรงต้าน โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ “ทะลุเพดาน”

กล่าวโดยธรรมชาติคือเมื่อมีแรงกด ก็เกิดแรงต้าน เสมือนโก่งไม้ จากไม้ตรงถูกโก่งไปทางขวา แรงโต้กลับก็จะดีดไปทางซ้าย เพื่อให้กลับมาตรงเหมือนเดิม การตอบโต้อย่างนี้ไม่เรียกว่า “ซ้ายจัด”

หรือหากมองขบวนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม ทุกยุคสมัย ก็จะเริ่มจากคนแถวหน้าที่มีอุดมคติ ตามด้วยคนแถวสอง แถวสาม จนแถวท้ายล้าหลัง ท้ายที่สุดก็จะเกิดฉันทามติ “ตรงกลางๆ” ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า แต่คนแถวหน้าอาจไม่ได้ตามอุดมคติที่ต้องการ ซ้ำยังต้องเสียสละ ชีวิตเลือดเนื้อ ถูกจับกุมคุมขัง ตั้งแต่จิตร ภูมิศักดิ์ มาถึง “ตะวัน”

ม็อบราษฎรที่ต่อสู้มาสองปี อาจไม่ชนะ ไม่ได้ตามต้องการ แต่ก็กดดันให้ต้องหาฉันทามติใหม่ ซึ่งหวังว่าจะ “ประนีประนอม” ที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีม็อบ อำนาจก็ไม่ประนีประนอม

ปรากฏการณ์ชัชชาติ ยังไงก็ไม่ใช่มาจาก “ทางสายกลาง” แต่มาจากอดีตรัฐมนตรีที่ถูกทหารจับมัดมือคลุมหัว รัฐประหารสืบทอดอำนาจ ความห่วยของรัฐบาล การลุกฮือของคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยให้มาลงที่ชัชชาติ

มันคือการขยับเพดาน และต้องท้าชนพุ่งชนต่อไป เพื่อให้ขยับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ