คุณพร้อมแค่ไหนกับการไล่ล่าความฝันของตัวเอง?..
มนุษย์ทุกคนย่อมมีความฝัน ซึ่งแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทำคนมีไม่เหมือนกันคือ โอกาสในการตามฝัน บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตยังไม่ได้โอกาสนั้น, บางคนได้มาอย่างรวดเร็ว, บางคนเคยได้มาแต่กลับปล่อยให้หลุดมือไป
จอห์น – ณ พรรษ คลังสิน คือหนุ่มคนหนึ่งที่มีความฝันเช่นกัน นั่นคือการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ ถึงจะดูไกลเกินจริง แต่นี่คือฝันสูงสุดที่อยู่ในหัวของเขาตลอดเวลา และเมื่อโอกาสมาถึง เขาไม่ยอมปล่อยให้หลุดลอย เพื่อที่จะมานั่งเสียใจภายหลัง
เขากลายเป็นนักมวยปล้ำอาชีพตั้งแต่อายุ 14 ปี ภายใต้ชื่อ โจนาธาน จอห์นสัน (Johnathan Johnson) ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำที่อายุน้อยที่สุดของประเทศในสมาคมมวยปล้ำของประเทศไทย กับชีวิตที่เดินไล่ล่าความฝัน โดยมีมวยปล้ำเป็นเข็มทิศชี้ทาง ให้เขามีทั้งความสุข ความทุกข์
และสอนให้รู้ว่าความฝันมีคุณค่ามากเพียงใด กับชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง..
ความสุขจากหน้าจอโทรทัศน์
จุดเริ่มต้นทุกอย่างเกิดขึ้นในตอนที่เด็กชาย ณ พรรษ คลังสิน วัย 4 ขวบ กำลังนั่งอยู่กับคุณพ่อ สายตาเขาจ้องมาเครื่องฉายภาพจอแก้ว ที่กำลังเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามการกดรีโมตของผู้เป็นบิดา
กระทั่งภาพถูกหยุดกับการฉายรูปชายกำยำสองคน กำลังต่อสู้อยู่ในเวที มีกรงเหล็กล้อมรอบ และทำให้หัวใจของเด็กน้อยคนหนึ่งพองโตอย่างสุดขีดด้วยความตื่นเต้น
“ผมจำได้เลยว่า แมตช์นั้นคือการปล้ำระหว่าง ทริปเปิล เอช กับ แรนดี ออร์ตัน ในกรงเหล็ก (ศึก Judgement Day ปี 2008) ภาพที่ผมเห็นคือทริปเปิล เอช กำลังปีนอยู่บนกรงเหล็ก มันสุดยอดมาก ยังคงเป็นภาพที่ติดตาผมมาจนถึงทุกวันนี้”
“พ่อผมเปลี่ยนไปช่องอื่น ผมก็ไม่ยอม รีบบอกให้พ่อเปลี่ยนช่องกลับไปดูมวยปล้ำ เพราะไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เห็นคนตัวใหญ่ยืนชี้หน้ากันบนเวที บรรยากาศคนดูเต็มสนาม ผมประทับใจมาก” โจนาธาน จอห์นสัน เริ่มเล่าเรื่องราวของเขา
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ณ พรรษ รู้ตัวมาตลอดว่า เขาตกหลุมรักกีฬาชนิดนี้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เขาจะตื่นมานั่งดูมวยปล้ำแบบไม่ยอมพลาดเด็ดขาด จนดึงดูดให้คุณพ่อและคุณแม่มานั่งดูร่วมกันกับเขา กลายเป็นกิจกรรมในครอบครัวไปโดยปริยาย
แต่สิ่งที่แตกต่าง คงเป็นพ่อและแม่ของ ณ พรรษ รู้ดีว่ามวยปล้ำมีศาสตร์ของการแสดงเข้ามาผสม ขณะเดียวกันตัวเขาในวัยนั้นไม่รู้แม้แต่นิดเดียว เขาคิดว่าเหล่านักมวยปล้ำฟาดฟันกันอย่างจริงจัง ไม่ต่างจากกีฬาต่อสู้แบบอื่น
“ตอนนั้นคือเชื่อในสิ่งที่เห็น นักมวยปล้ำหัวแตกเลือดไหลเต็มหน้า จะไม่จริงได้ไง?” โจนาธาน กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
“พอรู้ว่ามวยปล้ำเป็นการแสดง ผมก็ตกใจนะ มานั่งถามตัวเองว่า สรุปเขาไม่ได้ต่อยกันจริงเหรอ? แต่ว่าถึงจะรู้แบบนี้ ผมก็สนุกกับมันอยู่ ผมมองว่าเป็นการต่อสู้ที่กลมกล่อม เรายังมีอารมณ์ร่วม ทั้งตื่นเต้น ตกใจกับมันอยู่”
ไม่ว่ามวยปล้ำจะเป็นการต่อสู้ของจริงหรือไม่ คงไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่ว่า กีฬาประเภทนี้มอบความสุขให้กับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง และหย่อนเมล็ดแห่งความฝันของการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพลงบนจิตใจของเด็กคนนี้ เพื่อรอให้มันงอกงามเติบโตในอนาคต
“มันเป็นความฝัน ฝันที่ไม่กล้าฝัน เพราะรู้ตัวดีว่าการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพอยู่ไกลมาก แค่คิดว่าจะเป็นนักมวยปล้ำต้องไปต่างประเทศ ผมยังไม่รู้เลยว่าจะต้องไปให้ถึงตรงนั้นอย่างไร เป็นเหมือนฝันแบบตลกๆมากกว่า”
“แต่มวยปล้ำคือความสุขของผมมาตลอด ถ้ามีโอกาสผมอยากจะเป็นนักมวยปล้ำให้ได้”
บอกลาสิ่งที่รัก
มวยปล้ำคือความสุขที่สุดในชีวิตของเขา แต่สำหรับใครหลายคน มวยปล้ำเป็นเพียงแค่การแสดง กีฬาหลอกเด็ก และเหยียดหยามคนที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ว่าเป็นพวกหลงใหลในเกมการแข่งขันที่เปลือกปลอม
ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมของเด็ก การแบ่งชนชั้นเกิดขึ้นผ่านการเป็นแฟนกีฬา หากชื่นชอบฟุตบอลคือลูกผู้ชายที่มีแพชชั่นต่อ “ของจริง” แต่ถ้าเป็นแฟนมวยปล้ำ คุณคือคนที่หลงรักในสิ่งที่เป็น “ของปลอม”
“ช่วงผมอายุ 10 ถึง 12 ขวบ สังคมที่โรงเรียนผมคิดลบกับมวยปล้ำอย่างมาก ไม่มีใครดูมวยปล้ำ เพราะพวกเขาอินกับฟุตบอล ทุกคนมองว่าเป็นของปลอมเหมือนกับภาพยนตร์ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น แต่สำหรับผม นี่คือสิ่งที่มอบความสนุก เวลาดูมวยปล้ำเหมือนกับเราอยู่ในโลกของตัวเอง ตัดทุกอย่างออกจากโลกภายนอก มีแค่มวยปล้ำเท่านั้น”
“พวกเขาพยายามมากดดันผม ประมาณว่า ‘จะดูทำไมวะ?’, ‘มวยปล้ำอะไรของมึง?’ ถ้ามองจากมุมตอนนี้ เหมือนกับผมถูกบูลลี่จากการเป็นแฟนมวยปล้ำ มันกดดันมาก จนผมต้องตัดสินใจเลิกดูมวยปล้ำ เพราะถ้าไม่เลิกผมคงไม่มีเพื่อนคบ”
ณ พรรษ หันไปติดตามกีฬาอื่นตามกลุ่มเพื่อน นานครั้งถึงจะเปิดดูมวยปล้ำ แต่ในใจลึกๆของเขารู้ดีว่า สังเวียนสี่เหลี่ยม เชือกสามเส้น คือกีฬาหนึ่งเดียวที่ยึดพื้นที่ในใจของเขา และมันเรียกร้องให้เขากลับไปเป็นแฟนเดนตายอยู่เสมอ
แต่ปมในใจที่ถูกเพื่อนปลูกฝัง ให้มองว่ามวยปล้ำไม่ใช่กีฬาลูกผู้ชาย ทำให้เขาไม่กล้าที่จะกลับไปติดตามสิ่งที่รัก
“ผมเสียใจ ฝืนใจตัวเองที่ต้องเลิกดูมวยปล้ำ ผมรู้สึกว่าความฝันกับมวยปล้ำยังคงอยู่ในใจมาตลอด กระทั่งผมย้ายขึ้นสู่ชั้นมัธยมฯ จึงรู้ว่ามีเพื่อนอีกหลายคนที่ดูมวยปล้ำ ทำให้เรารู้สึกว่า นี่คือกีฬาที่ได้รับการยอมรับ เพียงแต่เราไม่ได้อยู่ในสังคมแบบนี้มาก่อนเท่านั้นเอง”
“หลังจากนั้น ผมกลับมาดูมวยปล้ำอีกครั้ง คราวนี้เป็นแฟนแบบฮาร์ดคอร์ ไล่ตามอ่านข่าว ดูทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ WWE เหมือนได้ปลดปล่อยตัวเอง มีความสุขกับมันอย่างเต็มที่”
แม่.. ผมอยากเป็นนักมวยปล้ำ
หลังจากกลับมาเป็นแฟนมวยปล้ำ ชีวิตของ ณ พรรษ กลับมาเต็มด้วยความสุขอีกครั้ง แต่เมล็ดพันธ์ุในใจของเขาที่ถูกปลูกฝังนับตั้งแต่วันที่เห็น ทริปเปิล เอช สู้กับ แรนดี ออร์ตัน ในกรงเหล็ก ได้เติบโตอย่างเต็มที่ กลายเป็นพลังส่งให้เด็กชายคนนี้พูดประโยคหนึ่ง กับแม่ว่า “แม่.. ผมอยากเป็นนักมวยปล้ำ”
“ผมพูดออกไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย อยู่ดีๆก็พูดไปแบบนั้น” ณ พรรษ เล่าขยายความ “แม่ถามกลับมาว่า มีค่ายมวยปล้ำอยู่ในไทย อยากไปลองดูไหม?”
ณ พรรษ ผู้ติดตามแค่มวยปล้ำต่างประเทศผ่านหน้าจอ ไม่เคยรู้ว่าเมืองไทยมีค่ายมวยปล้ำอาชีพเกิดขึ้น สองมือของเขาบรรเลงลงบนแป้นคีย์บอร์ดเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมในประเทศไทยทันที
เมื่อเห็นว่าจะมีโชว์มวยปล้ำ เขาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปดูโชว์ทันที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากรู้จักมวยปล้ำไทยให้มากขึ้น แต่อีกส่วนเนื่องจากเด็กหนุ่มคนนี้ ไม่เคยดูมวยปล้ำของจริงต่อหน้าต่อตาตัวเองมาก่อน
“พอได้ไปดูมวยปล้ำจริงๆ แพชชั่นมาเต็มครับ สำหรับผมมันต่างจากดูในโทรทัศน์เยอะมาก แค่ได้เห็นคนวิ่งไปมาบนเวที ก็รู้สึกสุดยอดมากแล้ว”
“หลังจากนั้น ทางสมาคมมีการเปิดรับสมัครให้ Try-Out ผมรีบไปเลยครับ ถือเป็นโอกาสให้ลองดูกันสักตั้ง”
ไม่ใช่เรื่องแปลก หากผู้ชายสักคนจะลองไปฝึกมวยปล้ำดูสักครั้ง แต่ที่ต่างออกไปคือ ณ พรรษ ในตอนนั้น เป็นเพียงเด็กชายอายุแค่ 13 ปี ซึ่งไม่เคยมีเด็กอายุน้อยขนาดนี้ในประเทศไทยที่เดินทางไปขอฝึกมวยปล้ำมาก่อน
“ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กอ้วนเตี้ยอยู่เลยครับ เพราะเอาแต่นั่งเล่นเกม กินขนม ไม่ออกกำลังกาย ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไร แต่ผมต้องไปลอง เพราะนี่คือความฝันที่อยู่กับตัวเองมาตั้งแต่ 4 ขวบ ทำไมต้องปฏิเสธโอกาสนี้?”
“ถ้าไปลองแล้วมันไม่ใช่สำหรับตัวเรา ก็แค่หยุด แต่ถ้าทำแล้วไปต่อได้ ผมพร้อมลุยต่อเต็มที่”
นักมวยปล้ำวัย 14 ปี
ประสบการณ์ในวันแรกของ ณ พรรษ กับการลองฝึกมวยปล้ำ ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดคิด เพราะสิ่งที่เขาได้ทำตลอดหลายชั่วโมง คือการฝึกเบสิคยิมนาสติก ม้วนหน้า ม้วนหลัง ครั้งแล้วครั้งเล่า และมีท่ามวยปล้ำท่าเดียวที่เขาได้ฝึก นั่นคือล็อคอัพ หรือการเริ่มล็อคระหว่างนักมวยปล้ำสองคน
อย่างไรก็ตาม เพียงเท่านี้ถือเป็นก้าวแรกที่เต็มไปด้วยความน่าหลงใหลสำหรับเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขาตัดสินใจเดินหน้าต่อทันที กลายเป็นเด็กฝึกมวยปล้ำอย่างเต็มตัว
“ผมฝึกแทบไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลยครับ อย่างเช่นท่า สไตร์ค มันไม่เกี่ยวกับอายุอยู่แล้ว แรงคือแรง หนักคือหนักเท่ากัน การฝึกซ้อมท่าต่างๆ พวกพี่ๆเปิดโอกาสให้ผมได้ลองอยู่เสมอ ได้หรือไม่ได้ค่อยว่ากัน”
ณ พรรษ ก้มหน้าก้มตาฝึกต่อไป ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่เจอปัญหา ด้วยอายุที่น้อยทำให้ร่างกายของเขายังไม่แข็งแรงเต็มวัย การใช้ท่ายกฟาดต่างๆจึงเป็นปัญหาสำหรับเขา เพราะพละกำลังไม่พอ
หากแต่มวยปล้ำ ไม่ใช่เรื่องของพละกำลังเพียงอย่างเดียว ณ พรรษ สามารถเอาดีทางด้านอื่นได้ ทั้งการใช้ท่าสไตร์ค และท่าจับล็อคต่างๆ
เวลาผ่านไป จนอายุของเด็กหนุ่มคนนี้เขาสู่ 14 ปี สิ่งที่เขารอคอยก็มาถึง กับการได้รับโอกาสให้ขึ้นปล้ำบนสังเวียนเป็นครั้งแรก ซึ่ง ณ พรรษ เลือกใช้ชื่อบนสังเวียนว่า “Jonathan Johnson” ซึ่งดัดแปลงมาจากชื่อเล่นอันเรียบง่ายของเขาอย่าง “จอห์น”
“แมตช์แรกของผมเป็นการปล้ำบนเบาะ ไม่ถึง 3 นาทีเองครับ ไม่ใช่แมตช์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ผมประทับใจกับการปล้ำครั้งนี้มาก เพราะนี่คือก้าวแรกของเรา และมีเส้นทางให้เดินไปต่อหลังจากนี้”
การปล้ำบนเบาะ กับแมตช์เวลาสั้นจิ๋ว ห่างไกลเหลือเกินหากเทียบกับแมตช์ระดับคู่เอกศึกใหญ่ WWE ระหว่าง ทริปเปิล เอช กับ แรนดี ออร์ตัน ที่ โจนาธาน จอห์นสัน เคยได้ดูสมัยเป็นเด็ก
แต่แมตช์การปล้ำนี้มีความหมายเหลือเกินกับเด็กหนุ่มคนนี้ เพราะมันได้เปลี่ยนให้ ณ พรรษ คลังสิน กลายเป็น โจนาธาน จอห์นสัน เปลี่ยนจากเด็กที่ชอบมวยปล้ำคนหนึ่งให้กลายมาเป็นนักมวยปล้ำอย่างเต็มตัว ต่อให้ไม่มีเวที กรงเหล็ก และไม่ได้เป็นคู่เอกของโชว์
เพราะเมล็ดพันธุ์แห่งความฝันที่ถูกปลูกไว้ตั้งแต่ 4 ขวบ ได้สำเร็จกลายเป็นความจริง ในอีก 10 ปีหลังจากนั้น
“ผมเชื่อว่าทุกคนมีความฝัน สำหรับตัวผม อยากเป็นนักมวยปล้ำ และทำได้สำเร็จตอนอายุ 14 มันมีความสุขมากนะ เพราะอย่างน้อยที่สุด ผมได้ทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จแล้ว”
ราคาที่ต้องจ่าย
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชีวิตของเขามีสองด้านทันที ฝั่งหนึ่งคือ ณ พรรษ คลังสิน นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ต้องรีบตื่นเช้าเข้าแถวไปโรงเรียน ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป
อีกด้านคือ โจนาธาน จอห์นสัน นักมวยปล้ำอาชีพที่ต้องเทรนร่างกายอย่างหนัก เพื่อหวังประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง ไม่ต่างจากนักสู้บนสังเวียนทั่วโลก
“ผมใช้ชีวิตแบบเด็กปกตินะครับ แค่ตอนเย็นเรามีเวลาฝึกซ้อมเพิ่มขึ้นมาเท่านั้นเอง ทั้งฝึกมวยปล้ำและเข้ายิม ยอมเหนื่อยกว่าคนอื่นเท่านั้นเองครับ ไม่ได้กระทบกับการเรียน”
“แต่ก็มีสิ่งที่ผมต้องเสียไปครับ เช่น จากที่เคยมีเวลาไปเที่ยวกับเพื่อน เวลาตรงนี้หายไป บางครั้งเพื่อนไปเที่ยวกัน แต่ผมไม่ได้ไปไหนเลย อยู่แต่ที่ฟิตเนส บางครั้งเพื่อนชวนเล่นเกม ผมไม่สามารถเล่นกับเพื่อนได้ เพราะฝึกซ้อมอยู่”
“เหมือนคำกล่าวที่หลายคนว่าไว้ ‘ถ้าเราทำงานก่อน เรายิ่งเสียชีวิตวัยเด็กไปก่อน’ ผมคิดแบบนั้นเลย มีหลายคนมาถามผมว่า ไม่เสียดายช่วงเวลาตรงนี้เหรอกับการเป็นนักมวยปล้ำตั้งแต่อายุ 14-15 ปี?”
“สำหรับผม นักมวยปล้ำคือสิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุด ผมเลือกทางนี้แล้ว เรื่องอื่นสามารถตัดทิ้งได้หมด เพราะนี่คือความฝันที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นจริง แพชชั่นทั้งหมดในตัวผมอยู่กับการเป็นนักมวยปล้ำ ผมจึงพร้อมทุ่มเทอย่างถึงที่สุด”
“ผมมองว่าผมได้เปรียบมากกว่าคนอื่น เพราะผมเริ่มปล้ำตอนอายุ 14 ปี สมมติบางคนเริ่มปล้ำตอนอายุ 25 เท่ากับว่าผมมีเวลาเรียนรู้ก่อนเป็นสิบปี ดังนั้น ผมอยากใช้เวลาตรงนี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม การเป็นนักมวยปล้ำตั้งแต่เด็ก ใช่ว่ามีแต่เรื่องดี เพราะมวยปล้ำอาจเป็นกีฬาที่หลายคนมองเป็นการแสดง แต่ความเจ็บปวดของกีฬานี้คือของจริง ทุกครั้งที่นักกีฬาถูกฟาดลงกับพื้นหรือถูกตบลงบนหน้าอก คือการเจ็บตัวของจริง เพียงแต่มีวิธีทำให้เบาลง เพื่อไม่ให้เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตเท่านั้น
ปล้ำก่อน เจ็บตัวก่อน นี่คือราคาที่ โจนาธาน จอห์นสัน ต้องยอมจ่าย กับการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งเขารู้ถึงมูลค่าของสิ่งที่จ่ายไปเป็นอย่างดี
“ตอนนี้ผมอายุ 17 มีอาการบาดเจ็บตั้งแต่ข้อเท้า, หัวเข่า ยาวมาจนถึงคอ จะเรียกว่าทั้งตัวก็ได้” โจนาธาน กล่าวถึงร่างกายที่สังเวยให้กับความฝัน “ตอนเป็นเด็ก ไม่ได้คิดเรื่องอาการบาดเจ็บหรอก มีแค่ความฝันกับแพชชั่นเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ตามมา ถือว่าไม่น้อยเหมือนกัน”
“ผมอาจจะเลิกปล้ำตอนอายุ 40 ก็ได้นะ ถ้าร่างกายไม่ไหวแล้ว แต่ผมคิดว่าจะไปให้ถึงที่สุดเท่าที่จะไปได้ เพราะอยากอยู่ตรงนี้ให้นานที่สุด”
ชีวิตที่มีมวยปล้ำเป็นแรงผลักดัน
ปัจจุบัน ณ พรรษ คลังสิน เรียนเพิ่งจบจากระดับชั้นมัธยมศึกษาได้ไม่นาน เพื่อนของเขากำลังเข้าสู่เส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย อีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดเส้นทางของชีวิตในอีกหลายสิบปีหลังจากนี้
แต่สำหรับเด็กหนุ่มคนนี้ เขามีเส้นทางของตัวเองที่แน่ชัด หลังออกสตาร์ทเดินทางตลอดหลายปีที่ผ่านมาในฐานะ โจนาธาน จอห์นสัน และพร้อมจะก้าวต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีอีกหลายสิ่งที่ตัวเขายังหวังว่าจะพบเจอ บนเส้นทางสายนี้
“ตอนนี้ผมมองเป้าหมายเป็น 5 ปีข้างหน้า ผมต้องประสบความสำเร็จสักอย่างในฐานะนักมวยปล้ำ ซึ่งทางที่ง่ายที่สุด คงเป็นการคว้าเข็มขัดสักเส้น”
“ผมมีแผนที่จะไปเรียนมวยปล้ำที่สหรัฐอเมริกา หลังจากโควิดหมดไป ผมไม่รู้ว่ามันจะหายไปตอนไหน แต่เมื่อไรที่มันหมดไป ผมจะไปที่อเมริกา”
“ผมไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร? อาจจะไปเรียนแค่ 3 เดือนแล้วกลับบ้าน อาจจะได้ขึ้นปล้ำสักแมตช์ หรือได้เซ็นสัญญากับสมาคมอาชีพก็ได้”
“แต่ที่แน่ๆ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ ลองดูสักครั้ง ชีวิตมนุษย์มีไว้ให้ได้ลอง ดังนั้น จะทำเรื่องนี้สักครั้ง คงไม่เสียหายอะไร”
นับตั้งแต่วันที่ตกหลุมรักมวยปล้ำผ่านหน้าจอโทรทัศน์ จนถึงวันที่เป็นหนึ่งในนักมวยปล้ำไทยผู้ยืนบนสังเวียนเพื่อช่วยพัฒนาวงการนี้ให้เติบโตยิ่งขึ้น
ชีวิตของ ณ พรรษ คลังสิน ได้ผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย โดยมีกีฬาคู่ใจของเขาเป็นผู้คอยมอบสิ่งต่างๆ ทำให้เขาเติบโตเป็นนักมวยปล้ำอย่างเต็มตัวในวัย 17 ปีที่พร้อมจะเดินหน้ารับความท้าทายใหม่ๆหลังจากนี้ไม่ว่าเรื่องดีหรือร้าย
“มวยปล้ำให้ทุกอย่างกับผม ได้ลอง ได้ทำอะไรใหม่ๆอยู่ตลอด ให้ความสุข ความทุกข์ สอนให้รู้จักความผิดพลาด ให้รู้จักความพยายาม เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้เร็วขึ้น”
“ถ้าให้ผมย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะทำแบบเดิม คือมาเป็นนักมวยปล้ำ ต่อให้ย้อนกลับไปกี่รอบๆ ผมก็จะทำในสิ่งที่ผมได้ทำลงไป”
“ผมไม่ได้มองช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นแค่ก้าวเล็กๆ แต่ผมเชื่อว่านี่คือก้าวที่ยิ่งใหญ่ ผมมาได้ไกลมากแล้วจากวันแรกที่เริ่มต้น และผมเชื่อว่าผมจะมีเส้นทางที่ผมสามารถไปต่อได้ไกลนับจากนี้”