วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เดือนแต่เช้า แขก คำผกา กล่าวถึง ช่อ พรรณิการ์ ปม รัฐประหาร ปี 2557 หลังจากมีกระแสว่า ช่อ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยืนควบคุมในการรายงานข่าว ในช่วงนั้น โดยทาง แขก โพสต์ระบุข้อความว่า “เดี๋ยวนะ ธนาธรโดนกระสุนยางที่สี่แยกคอกวัว-ใช่ แต่คือ คนไปม็อบช่วงนั้นมีโอกาสได้รับอันตรายแน่ๆ ส่วนเรื่องช่ออ่านข่าวท่ามกลางทหารเอากระสุนจ่อ ไม่มีนะคะ ในฐานะคนอยู่ voicetv มา 13 ปี ช่ออยู่โต๊ะต่างประเทศ ไม่ได้ออกไปทำข่าวเหตุการณ์ใดๆที่เสี่ยงอันตราย เมื่อมี รปห. 57 โดนปิด ก็คือไม่ได้ไปทำงานกัน เปิดทำการมา มีทหารมาเฝ้าตรงห้องคอนโทรลค่ะ ไม่ได้มาถือปืนเฝ้าเราอ่านข่าว เขียนจนเหมือนบทหนังอองซานซูจีเลยค่ะ”
ต่อมา ช่อ พรรณิการ์ ก็ได้เข้ามาโพสต์ข้อความชี้แจงว่า พี่แขกอาจจะลืมไปนะคะ หลังรัฐประหารสถานีโดนปิดไประยะหนึ่ง แล้วกลับมาเปิดใหม่ ถูกปรับผังเป็นรายการอ่านข่าวทั้งหมด ไม่มีวิเคราะห์ ผู้ประกาศนั่งอ่านข่าว มีทหารมายืนในสตูดิโอและห้องคอนโทรล และประจำที่ห้องข่าวด้วยค่ะ รวมถึงเฝ้าหน้าประตูออฟฟิศ ที่พี่แขกจำไม่ได้อาจจะเป็นเพราะตอนนั้นรายการโดนงด พี่แขกไม่ได้จัด และหลังจากนั้นพี่แขกก็ไปญี่ปุ่นยาวค่ะ เมื่อดีวาส์กลับมา ช่อเลยต้องนั่งเป็นพิธีกรกลางแทนอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งตอนที่กลับมาจัดรายการวิเคราะห์ข่าวได้ ทหารไม่ได้มาเฝ้าเข้มข้นเหมือนช่วงแรกๆแล้ว ความเห็นเราเห็นต่างกันได้ แต่เอาความจริงมาพูดกันนะคะ และเรื่องทำข่าวไม่ได้เสี่ยงอันตราย การอยู่โต๊ะต่างประเทศ งานเสี่ยงน้อยกว่าข่าวการเมืองแน่นอน ไม่ได้วิ่งม็อบ และไม่เคยคุยอวดว่าตัวเองไปเสี่ยงตายในม็อบตอนทำข่าว แต่ช่อไปม็อบในฐานะประชาชนค่ะ แต่มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ช่อไปม็อบต้านรัฐประหาร หลังเกิดรัฐประหารใหม่ๆ จึงโดนสั่งพักจัดรายการไปช่วงนึง ซึ่งเป็นผลพวงที่ช่อน้อมรับ และเข้าใจสถานการณ์อันยากลำบากชองผู้บริหารวอยซ์ดีค่ะ
- ขยี้ตาดู! ชายสูงวัยโชว์สเต็ปเทพ หันหน้ามาตกใจ นึกว่าอดีตนายกตู่
- ชี้แจงแล้ว โรงพยาบาลจ่ายยาผิด ให้หนูน้อย 1 ขวบ กินยาแต้มหูดจนโคม่า
- สรุปให้ คดีเจ้าของร้านทองยิงโจรดับ โดนตั้งข้อหายายามฆ่า คดีสิ้นสุดแล้ว
ซึ่ง คุณแขก ก็ได้ออกมากล่าวตอบกลับว่า “ถ้าช่อบอกว่ามีก็มีค่ะ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ พี่เล่าตามที่พี่รู้และเห็นค่ะ ว่าไม่เคยเห็นทหารในสตูดิโอ เห็นแค่ที่หน้าห้องคอนโทรลค่ะ สรุปว่า ‘จ้อง‘ นะคะ ไม่ได้ ’จ่อ’ คำว่า ‘จ้อง‘ คือ ’จ้องด้วยสายตา‘ ซึ่งแปลว่า ’มอง’ หรือ ‘ดู‘ (ไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้ถูกต้อง) แต่มันห่างไกลจากคำว่า ‘เอาปืนจ่อ’ ไม่ว่าจะ จ่อใกล้ หรือ จ่อไกล นะคะ” ไหนๆก็เป็นประเด็นแล้ว เล่าต่อเลยก็แล้วกันว่า พอแขกหนีไปเกียวโต (หนีเพราะเพื่อนทุกคนที่เป็นแดงด้วยกันหนีไปเมืองนอกหมดเลย) แขกเลยไปอ้อนวอนให้ คุณโบว์ มาจัดดีว่าส์ ตอนนั้นคุนโบว์ทำงานทางความคิดในเฟสบุค แขกตามเฟสบุคเขา เห็นว่าดี เลยนัดเจอ นัดคุย ดีว่าส์ ช่วงนั้นต้องปรับ mood and tone เป็น lifestyle
ล่าสุด คุณช่อ ได้ทำการโพสต์ข้อความชี้แจงเรื่องราวผ่านเฟซบุ๊กว่า ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาเสรีภาพสื่อ และสร้างบรรทัดฐานในด้านการคุ้มครองเสรีภาพสื่อ จึงขอชี้แจง 3 ประเด็นดังนี้
1.ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร 57 คือ ก่อนรัฐประหาร มีการประกาศกฎอัยการศึก วอยซ์ทีวีหยุดออกอากาศตั้งแต่ตอนนั้น แต่ยังทำข่าวขึ้นเว็บไซต์ พวกเรานักข่าวยังเข้าออฟฟิศเพื่อเขียนข่าวทำข่าวตามปกติ หลังรัฐประหาร สถานีโดนปิดไประยะหนึ่ง แล้วกลับมาเปิดใหม่ โดยถูกปรับผังเป็นรายการอ่านข่าวทั้งหมด ไม่มีรายการเชิงวิเคราะห์ ผู้ประกาศอย่างดิฉันต้องนั่งอ่านข่าว โดยมีทหารพร้อมอาวุธครบมือมายืนในสตูดิโอและห้องคอนโทรล และประจำที่ห้องข่าวด้วย รวมถึงเฝ้าหน้าประตูออฟฟิศ เหตุที่คุณลักขณาจำไม่ได้อาจจะเป็นเพราะตอนนั้นรายการโดนงด เธอจึงไม่ได้จัดรายการ และหลังจากนั้นไม่นาน คุณลักขณาก็เดินทางไปญี่ปุ่น เมื่อผู้บริหารตัดสินใจนำรายการดีวาส์คาเฟ่กลับมาออกอากาศ คุณลักขณาก็ยังไม่กลับมา ดิฉันจึงต้องนั่งเป็นพิธีกรกลางแทนอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งตอนที่กลับมาจัดรายการวิเคราะห์ข่าวได้ ทหารไม่ได้มาเฝ้าเข้มข้นเหมือนช่วงแรกๆ แล้ว แต่ยังแวะเวียนมาบ้างเป็นครั้งคราว
2.จากข้อเท็จจริงข้างต้น การที่คุณลักขณาระบุว่าทหารที่มาเฝ้าเป็นทหารชั้นผู้น้อยเซื่องซึม เกร็งๆ ด้วยซ้ำ จึงไม่ได้รู้สึกถูกคุกคามอะไร ต่างคนต่างอยู่ ดิฉันเคารพในความเห็นของคุณลักขณา แต่ดิฉันมีความเห็นที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง การที่ทหารติดอาวุธ มาเฝ้าดูการทำงานของสื่อในทุกที่ ตั้งแต่ห้องข่าวไปจนถึงสตูดิโอ เป็นการแสดงท่าทีคุกคาม และเป็นปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาที่ทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยปริยาย เพราะเกรงจะถูกปิดสถานีหรือถูกเชิญเข้าค่ายทหาร ดิฉันเชื่อว่าไม่มีสื่อมวลชนคนใดรู้สึกว่าตนเองสามารถทำงานได้อย่างปกติ ปราศจากแรงกดดัน ในสถานการณ์เช่นนี้ และสำหรับตัวดิฉันเอง ไม่เพียงรู้สึกถูกกดดัน แต่ยังรู้สึกอย่างมากว่าเกียรติภูมิของวิชาชีพ และความภาคภูมิใจในความเป็นสื่อของดิฉัน ถูกลดทอนและคุกคามอย่างร้ายแรง เป็นช่วงเวลาที่ดิฉันตั้งคำถามกับความเป็นสื่อของตัวเองอย่างมากที่สุดในระหว่าง 6 ปีครึ่งที่ทำงานสื่อมวลชน
3.ดิฉันไม่เคยเล่าเรื่องการคุกคามของทหารเพื่อให้ตนเองดูเท่หรือเป็นฮีโร่ ในทางตรงข้าม ดิฉันเล่าเพื่อจะถ่ายทอดความคับแค้นใจ อับอาย และความรู้สึกหมดหวังของสื่อคนหนึ่ง ที่ไม่สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างเต็มที่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ดิฉันไม่เคยชั่งตวงวัดว่าในยุคมืดนั้น ใครถูกคุกคามมากกว่าใคร และไม่เคยเรียกร้องให้ใครออกมาสู้ รวมถึงไม่เคยดูแคลนคนที่ไม่สู้ เพราะดิฉันทราบดีว่าทุกคนมีความจำเป็นในชีวิตที่แตกต่างกัน ดิฉันไม่ทราบว่าตนเองอยู่ในลิสต์ของทหารหรือไม่ ทราบแต่เพียงว่าทั้งดิฉันและคุณลักขณาต่างไม่อยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูก คสช. เรียกไปรายงานตัว ดิฉันตัดสินใจไปร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหลายครั้ง ผลที่ตามมาคือการถูกสั่งพักหน้าจอ หรือหยุดจัดรายการชั่วคราว ซึ่งดิฉันเข้าใจดีว่าผู้บริหารวอยซ์จำเป็นต้องทำ เพราะการที่พนักงานของวอยซ์ไปชุมนุมต้านรัฐประหาร อาจทำให้รัฐบาลเผด็จการไม่พอใจจนเกิดผลกระทบกับสถานีได้ ในเวลาต่อมา ดิฉันถูกเรียกเข้าค่ายทหารพร้อมกับผู้จัดรายการอีกหลายคน รวมถึงคุณลักขณา เพื่อไปพูดคุย “ปรับทัศนคติ” หรือที่จริงคือการข่มขู่ให้เราเซ็นเซอร์ตัวเอง อย่าล้ำเส้น ซึ่งดิฉันถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรงเช่นกัน
ด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ดิฉันคิดว่าทั้งดิฉันและคุณลักขณา ในฐานะที่เคยร่วมงานกันที่วอยซ์ทีวี ต่างเคยเผชิญการคุกคามจากระบอบเผด็จการ ไม่ใช่แค่การคุกคามต่อตัวเราในฐานะบุคคล แต่คือการคุกคามเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่เที่ยงตรงต่อประชาชน คือการคุกคามเสรีภาพของประชาชนที่จะได้รับรู้ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในห้วงยามคับขันที่ประชาธิปไตยกำลังถูกปล้นชิงไป ผู้เรียกร้องต่อสู้ถูกกดปราบ ได้แต่หวังว่าความเจ็บปวดคับแค้นใจในวันนั้น จะยังเป็นที่จดจำของคนทำงานสื่อทุกคน และกลายเป็นแรงผลักดันให้วอยซ์ทีวี และคุณลักขณา มุ่งมั่นตั้งใจทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพสื่อ นำเสนอข่าวสารความรู้ที่เสริมสร้างประชาธิปไตย สร้างสังคมที่ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ เห็นต่างกันบนความเข้าใจและเคารพในจุดยืนของอีกฝ่าย ไม่ใช่มุ่งแต่จะทำลายล้างกัน