“เมลาโทนิน” ไม่ใช่ยานอนหลับ แค่ช่วยทำให้ “ง่วงนอน”

Home » “เมลาโทนิน” ไม่ใช่ยานอนหลับ แค่ช่วยทำให้ “ง่วงนอน”



“เมลาโทนิน” ไม่ใช่ยานอนหลับ แค่ช่วยทำให้ “ง่วงนอน”

หลายคนมักมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ จนต้องหาตัวช่วยเพื่อให้หลับได้ง่ายขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “เมลาโทนิน” ที่มาในรูปแบบอาหารเสริม แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็น “ยานอนหลับ” ที่ซื้อหาได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด และอาจมีอันตรายได้ หากใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์

ที่สำคัญ ในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำเมลาโทนินมาเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วย ต่างจากในสหรัฐอเมริกา ที่จำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีข้อกำหนดในการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดน้อยกว่า และสามารถจำหน่ายได้ทั่วไป

“เมลาโทนิน” คืออะไร

เมลาโทนินคือฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ที่ทำหน้าที่ควบคุมวงจรการนอนหลับและการตื่นของร่างกาย ซึ่งกลไกการทำงานของต่อมดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับแสงสว่าง และอุณหภูมิ จึงทำให้ในเวลากลางวันต่อมไพเนียลจะไม่ทำงาน แต่เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ต่อมนี้จะเริ่มทำงาน และหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินเข้าไปในกระแสเลือด และมีการระบายความร้อนออกมาจากร่างกาย ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง ลดความตื่นตัวของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความเหมาะสมกับการนอน และรู้สึกง่วงนอน แต่ถ้าเมลาโทนินหลั่งออกมาน้อยจะทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับได้

โดยปกติแล้ว สมองจะหลั่งสารเมลาโทนินเข้าไปในกระแสเลือดเป็นเวลาติดต่อกัน 12 ชั่วโมง (ช่วงเวลาประมาณ 21.00-09.00 น.) ซึ่งระดับของเมลาโทนินจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงเช้า

ทั้งนี้ ความมืดจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนินออกมา เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าถึงเวลาพักผ่อนได้แล้ว ขณะที่แสงสว่างโดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ จะยับยั้งการหลั่งสารเมลาโทนินได้ ทำให้คนที่ชอบเล่นมือถือก่อนเข้านอนจึงนอนหลับได้ยากขึ้น

เมลาโทนินไม่ใช่ยานอนหลับ

ประโยชน์ของเมลาโทนินคือการช่วยให้วงจรการนอนหลับเป็นปกติมากขึ้น แต่ไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับโดยตรง เพียงแต่ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกง่วง และนอนหลับได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ยานอนหลับแต่อย่างใด

ปัจจุบัน การนำเมลาโทนินมาใช้ มักมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการเจ็ตแล็ก หรืออาการอ่อนเพลียจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อมีการเดินทางไปต่างประเทศข้ามโซนเวลา หรือนั่งเครื่องบินนาน ๆ

รวมถึงนำมาใช้กับกลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (Delayed Sleep Phase Syndrome),ใช้ปรับเวลาการนอนสำหรับผู้ที่มีการปรับตารางการทำงานกะทันหัน ผู้ที่นอนหลับยากในเวลากลางคืน และผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาการนอนเนื่องจากร่างกายหลั่งสารเมลาโทนินออกมาน้อยลง

เมลาโทนินเป็นยาควบคุม ซื้อเองไม่ได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในประเทศไทย เมลาโทนินไม่สามารถซื้อหาได้ทั่วไปเหมือนในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจัดเป็นยาอันตราย ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพราะหากได้รับฮอร์โมนติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และส่งผลข้างเคียงได้ อาทิ มีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ฝันร้าย มวนท้อง หงุดหงิด วิตกกังวล และมีภาวะซึมเศร้าในระยะสั้นได้

นอกจากนี้ เมลาโทนินยังมีข้อควรระวังที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับและโรคไตบกพร่อง หลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกับสารที่กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายยาเมลาโทนิน

โดยปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินเป็นยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาล หรือต้องควบคุมโดยการสั่งหรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ