เผย “ทางช้างเผือก” หนัก 5.5 แสนล้านเท่าของมวลสารดวงอาทิตย์-น้อยกว่าที่คาด
เผย “ทางช้างเผือก” – ซินหัว รายงานจากวารสารจากราชสมาคมดาราศาสตร์ (อาร์เอเอส) ของสหราชอาณาจักร เผยแพร่งานวิจัยที่ระบุว่าทีมนักวิจัยของจีนและต่างชาติ ทำการวัดมวลสารของ กาแล็กซี่ทางช้างเผือก ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทำให้พบว่ามีปริมาณราว 5.5 แสนล้านเท่าของมวลสารดวงอาทิตย์
ผลการวัดมวลสารกาแล็กซี่ทางช้างเผือกครั้งใหม่นี้น้อยกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยที่วัดได้โดยทีมนักวิจัยอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านเท่าของมวลสารดวงอาทิตย์
นายเซวีย เซียงเซียง สมาชิกหลักของทีมนักวิจัย และนักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่าการค้นพบครั้งล่าสุดนี้บ่งชี้ว่ากาแล็กซี่ทางช้างเผือกอาจ “เบาบางกว่า” ที่คาดไว้ก่อนนี้ หมายความว่ากาแล็กซี่ทางช้างเผือกมีสสารมืดที่ไม่ส่องสว่างแต่มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
นายเซวียระบุว่ามวลสารนั้นมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจพลวัตของกาแล็กซี่ ทว่าการคาดการณ์นั้นมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องด้วยข้อจำกัดของการสังเกตการณ์
สำหรับงานวิจัยฉบับนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ผลการวิจัยจากข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์ลามอสต์ (LAMOST) กล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานในย่านความถี่ที่ตามองเห็นชั้นนำของจีน และดาวเทียมไกอา (Gaia) ขององค์การอวกาศยุโรป
ตัวอย่างข้อมูลทางสเปกโทรสโกปีขนาดใหญ่จากกล้องโทรทรรศน์ลามอสต์ เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบหลักของการวิจัยฉบับนี้เมื่อเทียบกับการศึกษาของทีมวิจัยอื่นๆ โดยตัวอย่างไม่เพียงบันทึกจำนวนและความครอบคลุมที่มากเท่านั้น แต่ยังบันทึกตำแหน่ง 3 มิติ ความเร็ว 3 มิติ และปริมาณโลหะของดาวแต่ละดวงด้วย
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยประกอบด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไชน่า ธรี กอร์เจส หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์นในออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ฮือฮาดวงตาจักรวาลจีน จับภาพ “สนามแม่เหล็ก” นอกทางช้างเผือกครั้งแรก
- นักดาราศาสตร์พบกาแล็กซี “ถั่วลันเตา-บลูเบอร์รี-องุ่น” นอกทางช้างเผือก