เก็บเบอร์รี่ : เปิดสภาพความเป็นอยู่แรงงานไทยเหยื่อคดีค้ามนุษย์ในฟินแลนด์

Home » เก็บเบอร์รี่ : เปิดสภาพความเป็นอยู่แรงงานไทยเหยื่อคดีค้ามนุษย์ในฟินแลนด์


เก็บเบอร์รี่ : เปิดสภาพความเป็นอยู่แรงงานไทยเหยื่อคดีค้ามนุษย์ในฟินแลนด์

แต่ละปีมีแรงงานชาวไทยเดินทางไป เก็บเบอร์รี่ป่าและผลไม้อื่น ๆ ตามฤดูกาล ในฟินแลนด์และสวีเดน ราว 5,000-8,000 คน ผ่านช่องทางที่นายจ้างบริษัทผลไม้ติดต่อเอง นายหน้า และโครงการระหว่างรัฐบาล

กระทรวงแรงงาน และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมคนงานไทยในสวีเดนและฟินแลนด์ เมื่อปี 2560 ในภาพเป็นการตรวจเยี่ยมคนงานไทยในสวีเดน

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการจัดหางาน

กระทรวงแรงงานระบุว่า คนไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ฤดูกาลปี 2563 ระหว่าง ก.ค.-ก.ย. แบ่งเป็นสวีเดน 3,200 คน และฟินแลนด์ 2,014 คน ส่งเงินกลับประเทศกว่า 618 ล้านบาท ส่วนปี 2564 มีคนไทยเดินทางผ่านกระทรวงแรงงานราว 8,200 คน

แม้สร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทให้ประเทศ แต่แรงงานจำนวนไม่น้อย ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ เช่น คดี กลุ่มแรงงานคนไทย 26 คน ที่เดินทางไปเก็บลูกเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ เมื่อปี 2559 และฟ้องร้องต่อนายจ้าง โดยล่าสุด เจ้าของบริษัทเบอร์รี่ในฟินแลนด์ถูกศาลตัดสินลงโทษในข้อหาค้ามนุษย์ต่อแรงงานเก็บเบอร์รี่และเห็ดจากประเทศไทยกลุ่มนี้ และให้ชดใช้แก่เหยื่อทั้งหมดเป็นเงิน 2 แสนยูโร (7.4 ล้านบาท)

คดีนี้นับเป็นคดีค้ามนุษย์ที่มีโจทก์ร่วมฟ้องมากที่สุดในฟินแลนด์เมื่อเริ่มฟ้องคดี

เว็บข่าวเฮลซิงกิไทมส์ รายงานเมื่อ 28 ม.ค. ว่า ศาลฎีกาของฟินแลนด์ พิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าของธุรกิจรายนี้เป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน เมื่อ 26 ม.ค. เป็นการเพิ่มโทษขึ้นจากศาลชั้นอุทธรณ์ที่ลงโทษ 1 ปี 4 เดือน

ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮลซิงกิ ระบุกับบีบีซีไทยว่า สถานทูตอยู่ระหว่างการติดต่อกับกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล เพื่อแจ้งผลคำพากษาดังกล่าวให้แก่แรงงานชาวไทยทั้ง 26 คน และเตรียมประสานกับอัยการเจ้าของคดีเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป

เปิดบันทึกคำพิพากษา

ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมืองวอซา (Vaasa) เมื่อ ม.ค. 2561 ศาลได้อ่านพฤติการณ์ของนายจ้างตอนหนึ่ง ซึ่งกระทำต่อแรงงานชาวไทยว่า โจทก์เดินทางจากไทยถึงฟินแลนด์ เมื่อ 10 ก.ค. 2559ด้วยวีซ่าแรงงานตามฤดูกาลของบริษัท มัตตี ฮันคูเนน (Matti Hankonen’s) เพื่อเก็บลูกเบอร์รี่ป่าและเห็ด เป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ต้องทำงานอย่างอื่น โจทก์เป็นชาวต่างชาติที่ไม่มีทักษะทางภาษา ไม่มีการศึกษา และเดินทางมาฟินแลนด์เป็นครั้งแรก โดยมีเงินติดตัวราว 50 ยูโร (ประมาณ 1,868 บาท)

แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ ฤดูกาล 2021 หรือเมื่อปี 2564 มีราว 8,200 คน

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการจัดหางาน

การเดินทางไปฟินแลนด์ ต้องเสียค่าเดินทางและค่าดำเนินการเป็นเงินทั้งสิ้น 65,000 บาท หรือราว 1,672 ยูโร แต่โจทก์ไม่มีเงินพอสำหรับต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว ผู้ประสานงานซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้บอกกับโจทก์ว่า สามารถกู้เงินจากบริษัทที่จ้างเก็บเบอร์รี่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้

ระหว่างกระบวนการเข้าทำงาน โจทก์ได้กลายเป็นหนี้ในจำนวนเงิน 35,000 บาท โดยมีเจ้าของบริษัท ผู้รับเข้าทำงาน หรือคู่สัญญาเป็นเจ้าหนี้ โดยหนี้ดังกล่าวนี้จะถูกหักจากรายไดของแรงงานที่มาเก็บลูกเบอร์รี่ นอกจากนี้ ตัวแรงงานเองก็มีหนี้สินอันเกิดจากการกู้ยืมเพื่อจ่ายค่าเดินทางอีก 30,000 บาท

อย่างไรก็ตามในกระบวนการนี้ ไม่มีการเซ็นสัญญาการทำงานระหว่างแรงงานชาวไทยกับบริษัท

คำพิพากษาระบุด้วยว่า บริษัทนายจ้างยังคิดเงินค่าเดินทางจากสนามบินมายังเมืองฮานกาซาลมี (Hankasalmi) เป็นเงิน 30 ยูโร โดยไม่มีการแจ้งต่อแรงงาน และเรียกเก็บเงินเป็นรายวัน สำหรับค่าที่พัก อาหาร ค่าเช่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ ค่าเช่าอุปกรณ์เก็บเบอร์รี่ ผ้าปูเตียง โดยคิดในลักษณะที่ทำให้แรงงานเป็นหนี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มเดินทางมาถึงฟินแลนด์ แรงงานไทยไม่มีเงินเป็นของตัวเอง ต้องพึ่งพาอาหาร ที่อยู่ ไปจนถึงต้องเช่าอุปกรณ์สำหรับเก็บเบอร์รี่ตามที่บริษัทจัดหามา

นอกจากนี้ เมื่อแรงงานชาวไทยเดินทางมาถึง บริษัทนายจ้างได้ยึดหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบินเดินทางขากลับของแรงงานเอาไว้

ศาลระบุว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าว แรงงานตกอยู่ในสถานะที่ไม่ปลอดภัยและอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพานายจ้าง ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อผู้ใช้แรงงาน พวกเขาต้องอยู่แต่ในที่พัก ทำงานเก็บลูกเบอร์รี่และเห็ดขายให้กับบริษัทนายจ้างในราคานายจ้างเป็นคนกำหนด

การบังคับใช้แรงงานและสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย

คำพิพากษาชี้ว่า สภาพที่พักอาศัยผิดไปจากข้อมูลที่แจ้งมาก่อนหน้านี้ นายจ้างได้จัดให้แรงงานอยู่ในแคมป์ที่พักที่เรียกว่า ที่พักแบบเคลื่อนย้ายได้ โดยแปลงรถบัสมาเป็นที่พักคนงาน แรงงานทั้งหญิง ชาย อยู่รวมกันในนั้น 18-20 คน โดยที่ไม่มีความเป็นส่วนตัว ทั้งแออัดคับแคบและไม่เป็นระเบียบ อุปกรณ์ทำอาหารและซักล้างไม่เพียงพอและไม่ถูกสุขอนามัย ระบบการกำจัดของเสียอยู่ในสภาพที่ไม่ดี เจ้าหน้าที่หน่วยงานสุขภาพที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่า มีข้อบกพร่องในที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมจำนวนมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้พักอาศัย รวมถึงไม่มีความปลอดภัยที่เหมาะแก่การพักอาศัย

คนงานยังต้องทำงานต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานตั้งแต่รุ่งเช้าถึงตอนเย็น ราว 12-15 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด หรือไม่มีวันหยุดที่แน่นอน อีกทั้งยังต้องทำงานเพื่อเอาเงินรายได้ส่วนใหญ่ไปจ่ายหนี้ที่ติดกับนายจ้าง ที่เก็บเงินค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก อาหาร ค่าเดินทาง ค่าดำเนินการต่าง ๆ นายจ้างของบริษัทนี้ไม่ได้จ่ายเงินเดือนหรือเงินชดเชย สำหรับการทำงานที่มากเป็นสองเท่าต่อเดือน ตามที่คนงานได้รับแจ้งมา แต่เงินชดเชยจะถูกนำไปหักลบกลบหนี้หลังจากงานเสร็จ

ถังใส่เบอร์รี

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการจัดหางาน

ปพิชญา บุญงอก

ที่มาของภาพ, ปพิชญา บุญงอก

ปพิชญา บุญงอก

ที่มาของภาพ, ปพิชญา บุญงอก

คำบอกเล่าของแรงงานไทย

แรงงานหญิงไทย 2 ราย เล่าให้ ปพิชญา บุญงอก ผู้สื่อข่าวอิสระที่ถ่ายทำสารคดีวิดีโอสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในฟินแลนด์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์และวิทยุ yle ของฟินแลนด์เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2561 ถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ประสบจริง

“หญิง” แรงงานหญิงชาวไทย 1 ใน 26 คนที่ฟ้องร้องนายจ้าง ให้สัมภาษณ์หลังกลับมาอยู่ในไทยแล้วว่า เธอไปทำงานด้วยความหวังที่ตัวแทนบอกว่า จะได้เงินประมาณ 3-4 แสนบาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยจะต้องไปทำงานใช้หนี้ให้ครบ 35,000 บาทซึ่งส่วนที่เหลือจะเป็นเงินที่แรงงานได้

สารคดีชิ้นนี้ถ่ายให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนงานกลุ่มนี้ เผยภาพรถบัสที่ถูกดัดแปลงให้เป็นที่พักนอนของคนงานชาวไทยที่นำเตียงสองชั้นมาใส่ในรถบัสให้ใช้เป็นที่นอน

“หญิง” บอกด้วยว่า บริษัทเก็บหนังสือเดินทางของคนงานกว่า 200 คนไป โดยเธอแสดงความเห็นว่า อาจคิดว่าคนงานเหล่านี้ส่วนมากเป็นชาวบ้าน เป็นคนสูงอายุ ที่ไม่รู้อะไรมาก

“ห้องอาบน้ำมี 4 ห้อง ของผู้หญิง ผู้ชายมี 4 ห้อง ห้องน้ำห้องสุขาก็มีประมาณ 5 ห้อง ในจำนวนคนทั้งหมด 230 คน”

“เวลาเราออกไปทำงาน คือ ตี 5 บางคน ตี 4 ทุกคนพยายามออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะเก็บให้มากที่สุด…. ทุกคนมาบวกลบคูณหารแล้ว วันหนึ่งวัน ต้องเก็บให้ได้ 60 กิโลขึ้นไป เงินเราถึงจะเหลือกลับมา”

เธอบอกด้วยว่า บริษัทเก็บหนังสือเดินทางของคนงานไป โดยเธอแสดงความเห็นว่า บริษัท อาจคิดว่าคนงานเหล่านี้ส่วนมากเป็นชาวบ้าน เป็นคนสูงอายุ ที่ไม่รู้อะไรมาก จากสภาพที่คนงานไทยเผชิญเหล่านี้ ทำให้หลายคนอยากกลับประเทศไทย รวมถึงเธอด้วย

สารคดีชิ้นนี้ ยังได้สัมภาษณ์ “ขนิษฐา” แรงงานหญิงชาวไทย ที่เล่าว่า เธอใช้เงินส่วนตัว 21,000 บาท และกู้เงินจากบริษัทคนละ 46,500 บาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการได้ไปเก็บลูกเบอร์รี่ที่นั่น

“ห้องน้ำมีอยู่ 1 ห้อง มีคน 35 คน ต่อห้องน้ำห้องเดียว เป็นห้องน้ำแล้วก็ห้องอาบในห้องเดียวกัน…น้ำกินเราก็ต้องเอาน้ำจากในห้องน้ำมาดื่ม น้ำกินของเรา”

ก่อนหน้านี้ ประชาไท เคยรายงานกรณีคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่เดินทางไปเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนในฤดูกาลปี 2556 ถูกโกงเงินค่าจ้างและค่าผลไม้ โดยบริษัทที่เข้ามาสรรหาคนในไทย และทราบในเวลาต่อมาว่าเป็นบริษัทลูกของบริษัทผลไม้ในสวีเดน

แรงงานส่วนใหญ่เป็นชาว จ.ชัยภูมิ อุดรธานี และนครราชสีมา บางคนต้องเอาโฉนดที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้กับบริษัทที่ต้องจ่ายงวดแรก 20,000 บาท ผู้เสียหายยังบอกด้วยว่า เบ็ดเสร็จแล้วมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป 85,000 บาท โดยจำนวนหนึ่งเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 4 ที่ต้องเสียให้กับบริษัท จากเงินที่บริษัทอ้างว่าจ่ายค่าเดินทาง ค่าดำเนินการให้ก่อน

ปพิชญา บุญงอก

ที่มาของภาพ, ปพิชญา บุญงอก

ปพิชญา บุญงอก

ที่มาของภาพ, ปพิชญา บุญงอก

ร้องเรียนสถานทูตไทย

เมื่อปี 2560 แรงงาน 26 คนเข้าร้องเรียนกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮลซิงกิ จนได้รับความช่วยเหลือ ติดต่อกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานฟินแลนด์เพื่อแก้ไขปัญหา และติดตามชี้แนะแรงงานไทยเพื่อให้มีสวัสดิการปลอดภัย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

“แต่เมื่อจำเลยยังคงมีการละเมิดสวัสดิภาพแรงงานไทย เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ จึงได้เดินทางไปตรวจแคมป์คนงานพร้อมเจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานฟินแลนด์ และได้เก็บหลักฐานจากการประสานกับแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องส่งให้ตำรวจเจ้าของสำนวนและเจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานฟินแลนด์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้” สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ระบุในเอกสารที่ตอบกลับบีบีซีไทย

สถานทูต ณ เฮลซิงกิ ระบุด้วยว่า ทั้งไทยและฟินแลนด์ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ในกรอบอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งรัฐภาคีมีหน้าที่ต้องออกกฎหมายรองรับเพื่อให้เกิดความสามารถในการฟ้องร้องดำเนินคดี ตลอดจนมีบทลงโทษและการเยียวยาแก่เหยื่อที่ถูกใช้แรงงานบังคับ ค้ามนุษย์ อย่างสมควรและมีประสิทธิผล เพื่อประกันไม่ให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

สอท. ณ กรุงเฮลซิงกิ ให้ข้อมูลด้วยว่า ตามกฎหมายของฟินแลนด์ ความผิดฐานค้ามนุษย์ มีบทลงโทษจำคุกขั้นต่ำ 4 เดือน และสูงสุด 6 ปี

……………………………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ