สหรัฐเรียกคืน “น้ำตาเทียม” ยี่ห้อดัง หลังพบสารปนเปื้อนแบคทีเรีย ติดเชื้อ ตาบอด-ดับแล้ว 3 ราย และอีก 8 รายสูญเสียการมองเห็น
ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อเดือน ก.พ. บริษัท โกลบอล ฟาร์มา เฮลธ์แคร์ (Global Pharma Healthcare) เรียกคืนยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมที่จัดจำหน่ายโดย เอซรีแคร์ (Ezri Care) และ เดลซัม ฟาร์มา (Delsam Pharma) ที่ผลิตโดยบริษัทของอินเดีย หลังพบการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย สูญเสียการมองเห็นอีก 8 ราย และอีก 4 รายต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก ทางการต้องประกาศเตือนประชาชนหยุดใช้น้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อนี้ทันที
ทางการสหรัฐ ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC พบประชาชนอย่างน้อย 68 คน ใน 16 รัฐติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดื้อยาปฏิชีวนะ ชื่อว่า ซูโดโมแนส แอรูจีโนซา (Pseudomonas aeruginosa) จากน้ำตาเทียม
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนผู้บริโภคและบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ซื้อยาทาตาหลายชนิดที่ผลิตโดยผู้ผลิต Global Pharma และเร่งตรวจสอบสาเหตุของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ถือเป็นการพบเชื้อครั้งแรก
ตามข้อมูลของ CDC ระบุว่า เชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนสสามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด กระจกตา ทางเดินหายใจ และทางเดินปัสสาวะโดยเชื้อซูโดโมแนส แอรูจีโนซา ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์บ่อยที่สุด
ส่วนใหญ่เชื้อแบคทีเรียมักพบในสถานพยาบาลที่ไม่สะอาดหรือไม่ถูกสุขอนามัย เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้มากในเครื่องเพิ่มความชื้นซึ่งใช้ในโรงพยาบาล รวมถึงสายสวนปัสสาวะที่ทำความสะอาดไม่ดีพอ ซึ่งขณะนี้มีคนติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในสหรัฐฯ แล้วประมาณ 32,600 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,700 คน
จากกรณที่เกิดขึ้น ทาง CDC ต้องประกาศเรียกคืนน้ำตาเทียมในท้องตลาดเพิ่มเป็นทั้งหมด 10 ยี่ห้อ พร้อมกับเตือนประชาชนที่ติดเชื้อที่ดวงตา หลังการใช้น้ำตาเทียมให้ไปพบแพทย์ทันที
สำหรับอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ได้แก่ ขี้ตาสีเหลือง หรือเขียว ปวดหรือไม่สบายตา ตาหรือเปลือกตาแดงรู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในดวงตา ตาอ่อนไหวต่อแสงหรือสู้แสงไม่ได้ และตาพร่าหรือมองไม่เห็น
นอกจากนี้ แพทย์สหรัฐ ยังแนะนำให้ว่าประชาชนควรเก็บรักษาน้ำตาเทียมให้ปลอดเชื้อ ห้ามให้ปากขวดสัมผัสกับมือ ผิวหนังหรือดวงตา และไม่ใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น รวมถึงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุไปแล้ว และไม่ใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันบูดเจือปน
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา คือ ความสะอาดของสิ่งของรอบตัว รวมถึงการรักษาสุขอนามัยของตัวเองที่ไม่ดีพอ
ดังนั้นคุณจึงต้องรู้จักรักษาความสะอาดทั้งร่างกายของตัวเอง และข้าวของเครื่องใช้รอบตัว รวมถึงรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเมื่อไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงติดเชื้ออย่างโรงพยาบาล สระว่ายน้ำ พื้นที่ใช้งานสาธารณะร่วมกับผู้อื่น