สธ.เปิดศูนย์ตรวจสอบทำผิดทางเทคโนโลยี รับเรื่องร้องเรียน ปราบกลุ่มหมอกระเป๋า หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ช่วยประสานล่อซื้อเอาผิดเร็วขึ้น เผย 1 ปี จับแล้ว 40 คดี เปรียบเทียบปรับ 164 คดี ค่าปรับตั้งแต่ 1 หมื่น – 1 แสนบาท
วันที่ 14 ธ.ค.2565 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อม นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สบส.
นายสาธิต กล่าวว่า สบส.เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักจัดตังศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส เฝ้าระวัง ตรวจสอบการกระทำผิดทางเทคโนโลยี สืบค้นผู้กระทำความผิดที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ประสาน วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น ตรวจสอบการกระทำความผิดอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ จัดการประเด็นปัญหาของผู้บริโภค (Pain Point) ได้ถูกต้อง ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม
นายสาธิต กล่าวต่อว่า สบส.จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือระหว่าง สบส. กับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย โดยมี กสทช.เป็นเลขานุการ นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ตรวจจับสื่อโฆษณาที่ผิดกฎหมาย เพิ่มความครอบคลุมและประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ไม่ได้เน้นปราบปรามอย่างเดียว แต่ยังเน้นให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัยสูงสุด โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพเข้าสู่ระบบของ สบส.เพื่อควบคุมดูแลอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการร้องเรียนเข้ามามาก แต่ปัญหาคือ สบส.ยังมีบุคลากรที่เป็นหลักน้อยเกินไป
ขณะนี้จึงจำเป็นต้องเกลี่ยคน โดยใช้กองกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งเมื่อรับแจ้งมาอาจไม่ทัน เช่น กรณีหมอกระเป๋า แต่ก็มีการดำเนินการเพื่อให้เร็วที่สุด เกลี่ยกำลังคน ทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายเร็วขึ้น ตรวจสอบ จับกุมให้รวดเร็วที่สุด โดยหลังจากสืบค้นแล้วภายใน 24 ชั่วโมงสามารถดำเนินการลงไปล่อซื้อได้ทันที
หากใครพบเบาะแสกระทำผิดเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ สามารถแจ้งมายัง สบส.ได้ทางโทร. 1426 หรือแพลตฟอร์มของกรมฯ เฟซบุ๊กกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยปัญหาที่ร้องเรียนพบมากที่สุด คือ หมอเถื่อน หมอกระเป๋า คลินิกเถื่อน ฯลฯ นอกจากนี้ จะมีการขับเคลื่อนร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ช่วยเฝ้าระวัง ซึ่งอธิบดี สบส. จะดำเนินการต่อไป” นายสาธิต กล่าว
ด้าน นพ.สุระ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีพนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมายดำเนินการสืบค้น ตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลหรือโฆษณาของสถานพยาบาลและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือที่ได้รับเบาะแสจากภาคีเครือข่ายและประชาชนผ่านออนไลน์ เพื่อเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายลักษณะของการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโอ้อวดเกินจริง ที่อาจจะส่งผลกระทบหรือความเสียหายต่อผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงจะมีการเรียกสถานพยาบาลหรือสถานประกอบการมาดำเนินคดี
กรณีที่พบการกระทำผิด แต่จะมีการขยายผล ติดตามพฤติกรรม ตรวจสอบไปถึงผู้ที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในระบบออนไลน์อีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ API มาใช้เชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย
“ผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 มีการตั้งอนุกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดีจับกุมและปราบปรามหมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน จำนวน 40 คดี และมีการสืบค้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย นำมาสู่การเปรียบเทียบปรับ 164 คดี ซึ่งค่าปรับมีตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท” นพ.สุระ ระบุ