การหายไปจากวงจรข่าวของ“พรรครวมไทยสร้างชาติ”สะท้อนนัยยะใดทางการเมือง
มองอย่างผิวเผินสภาพการณ์นี้อาจสัมพันธ์กับบทบาทที่ถูก“ลบ”ไปของ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ จากทำเนียบรัฐบาลโดยสิ้นเชิง
เมื่อไม่ได้อยู่เคียงใกล้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว
ผลการดีลอะไรต่อมิอะไรก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะที่สำแดงผ่านการเคลื่อนไหวในการจัดตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติก็ต้องหมดสิ้นไปโดยปริยาย
บทสรุปเช่นนี้ยืนยันนัยยะอะไรในทางการเมือง
ถามว่าเป้าหมายในการเตรียมพรรครวมไทยสร้างชาติมีมูลฐานใดรองรับ
คำตอบที่ตรงเป้าอย่างที่สุดก็คือ เป็นการตระเตรียม“พรรคสำรอง”เพื่อการต่อยอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง
เมื่อไม่อาจวางใจพรรคพลังประชารัฐได้เต็มร้อย
ต้องยอมรับว่า นี่คือความคิดที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยตลอดในหมู่กุนซือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยเฉพาะนับแต่สถานการณ์เดือนกันยายน 2564
เป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คืออะไร
โดยพื้นฐานคือ ต้องการสร้างหลักประกันในการต่อยอดและสืบทอดอำนาจทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยเป้าหมายหลังวางอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
แต่ภายหลังจากเกิดสถานการณ์เดือนกันยายน 2564 จากกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ความไว้วางใจต่อพรรคพลังประชารัฐก็ลดลง
มีความคิดในการเข้ายึดพรรค มีความคิดในการตั้งพรรคสำรอง
ไม่ว่าความคิดในการยึด ไม่ว่าความคิดตั้งพรรคสำรองสะท้อนอะไร
สะท้อนให้เห็นความไม่มั่นใจ สะท้อนให้เห็นความเห็นต่างลึกๆ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
นี่คือรูปธรรมแห่งจุดร้าวภายใน “กลุ่ม 3 ป.”