ระวังตัวเอาไว้! 3 วิธีจับ “คนโกหก”​ ที่นักวิทยาศาสตร์รับรองว่าได้ผลแน่นอน

Home » ระวังตัวเอาไว้! 3 วิธีจับ “คนโกหก”​ ที่นักวิทยาศาสตร์รับรองว่าได้ผลแน่นอน
ระวังตัวเอาไว้! 3 วิธีจับ “คนโกหก”​ ที่นักวิทยาศาสตร์รับรองว่าได้ผลแน่นอน

คนเราโกหกด้วยหลากหลายเหตุผลขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป เหตุผลหลักข้อหนึ่งเป็นเพราะคนทั่วไปมักจะจับผิดสิ่งที่คนอื่นโกหกไม่ค่อยเก่งนัก แต่ก็มีเทคนิควิธีจับโกหกที่สามารถนำมาใช้และได้ผลอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นเครื่องจับเท็จที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ ปัญหาก็คือใครจะมีปัญหาซื้อเครื่องจับเท็จแบบนั้นกันล่ะ 

อย่าเพิ่งหมดหวังไป เพราะงานวิจัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้หยิบยกแนวคิดเชิงรู้คิดมาใช้เพื่อจับคนโกหก และสรุปออกมาเป็นวิธีง่ายๆ ที่ใครก็เอาไปใช้จับคนโกหกได้อย่างอยู่หมัด ซึ่งวันนี้ Sanook ได้สรุป 3 วิธีที่ว่านี้มาฝากทุกคนกัน

แนวคิดเชิงรู้คิด (Cognitive Approach) 

แนวคิดเชิงรู้คิด คือกลยุทธ์ในการสัมภาษณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อจับผิดการโกหก โดยมีที่มาที่ไปจากแนวคิดที่ว่าการโกหกเป็นการสั่งการของสมอง ซึ่งคนที่โกหกจำเป็นต้องโกหกไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้โดนจับได้ 

2 นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยกอเทนเบิร์ก แห่งสวีเดน รีวิวงานวิจัยเกี่ยวกับการโกหกที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ มากกว่า 23 ชิ้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมวิจัยมากกว่า 3,000 คน และพวกเขาค้นพบว่า ผู้ร่วมวิจัยที่ไม่รู้ว่ากำลังใช้แนวคิดเชิงรู้คิดเพื่อจับโกหก สามารถจับคนโกหกได้มากกว่า 52% ในขณะที่ผู้ร่วมวิจัยที่รู้ตัวว่ากำลังใช้แนวคิดเชิงรู้คิดหรือถูกฝึกให้ใช้วิธีการดังกล่าว สามารถจับโกหกได้มากกว่า 75%  

“ทฤษฎีเรื่องแนวคิดเชิงรู้คิด คือการถามคำถามที่จะทำให้คนโกหกต้องโกหกมากกว่าเดิม คำถามเหล่านั้นไม่ควรมีผลต่อความจริงที่เขาจะพูดออกมา ซึ่งมันจะทำให้การพูดความจริงกับคำโกหกกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับคนที่โกหก” 

ซึ่งเทคนิคการจับโกหกที่นักจิตวิทยาค้นพบ มี 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

กำหนดการรับรู้

เทคนิคนี้คือการกำหนดสิ่งเร้าภายนอกต่างๆ ที่จะทำให้การใช้พลังงานเพื่อโกหกและรักษาคำโกหกนั้นลดลง อย่างเช่น ขอให้เล่าเรื่องย้อนกลับ จากตอนจบกลับไปที่ตอนต้น หรือการขอให้มองตาของคุณอยู่ตลอด หรือถ้าจะให้ได้ผลมากกว่านั้น คือให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วยขณะกำลังเล่าเรื่อง ซึ่งนั่นจะทำให้พลังงานที่ต้องใช้เพื่อโกหกลดน้อยลง เช่น การล้างจาน เป็นต้น

ขอให้พูดลงรายละเอียดมากขึ้น

วิธีนี้พัฒนามาจากงานวิจัยเรื่องพยานผู้เห็นเหตุการณ์ คือการขอให้คนๆ นั้นพูดให้มากขึ้น ยิ่งต้องพูดมากขึ้น ลงรายละอียดมากขึ้นเท่าไร คนที่โกหกมักจะส่งสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังโกหกมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสิ่งที่พูดมักจะขึ้นอยู่กับความทรงจำที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ถ้าโกหก ก็แปลว่าไม่มีความทรงจำที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้การเล่าเรื่องราวที่ต้องลงรายละเอียดเยอะๆ เป็นไปได้ยาก

ถามคำถามที่ไม่คาดคิด

คนโกหกจะลื่นไหลไปได้ถ้าถูกถามด้วยคำถามที่เขารู้อยู่แล้วหรือคาดเดาได้ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็มักจะเตรียมทางหนีทีไล่ เตรียมข้ออ้างมาช่วยซัพพอร์ตคำโกหกของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งคนโกหกที่เตรียมตัวมาแล้วจะทำให้การจับโกหกกลายเป็นเรื่องยากมากกว่าเดิม แต่วิธีการถามคำถามที่เขาไม่คาดคิด จะช่วยทำใหคนโกหกไม่ทันระวังตัว คนที่พูดความจริงจะสามารถตอบได้ทันที แต่ถ้าเป็นคนโกหกก็จะมีอึกอักกันบ้าง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ