มูลนิธิเด็กฯ ยื่นหนังสือ รมต.ยุติธรรม เร่งคุ้มครองพยาน เหยื่อ 14 ปี ถูกรุมโทรม หวั่นไม่ปลอดภัย

Home » มูลนิธิเด็กฯ ยื่นหนังสือ รมต.ยุติธรรม เร่งคุ้มครองพยาน เหยื่อ 14 ปี ถูกรุมโทรม หวั่นไม่ปลอดภัย


มูลนิธิเด็กฯ ยื่นหนังสือ รมต.ยุติธรรม เร่งคุ้มครองพยาน เหยื่อ 14 ปี ถูกรุมโทรม หวั่นไม่ปลอดภัย

มูลนิธิเด็กฯ ยื่นหนังสือ รมต.ยุติธรรม เร่งนำ เหยื่อถูกรุมโทรม วัย 14 ปี พร้อมครอบครัว เข้ากระบวนการคุ้มครองพยาน หวั่นไม่ปลอดภัย ถูกคุกคาม

วันที่ 2 มี.ค.2566 มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว นำโดย นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และ นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิฯ เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้นำคดีเด็กหญิงวัย 14 ซึ่งถูกชายกว่า 15 คน รุมโทรมต่อเนื่องหลายปีใน จังหวัดเลย เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน เพื่อความปลอดภัย ไม่ถูกแทรกแซง สร้างความเข้มแข็งก่อนเข้าสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรม โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบหนังสือ

นายชูวิทย์ กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเด็กฯ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมหลายกรม อาทิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และหลายกรณีที่ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือในทางคดี ช่วยเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้เสียหาย และครอบครัว เตรียมความพร้อมก่อนต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในชั้นศาล

เช่น คดีบ้านเกาะแรด จังหวัดพังงา เมื่อหลายปีก่อน คดี บ้านดงมอน จังหวัดมุกดาหาร และล่าสุด เกิดเหตุการณ์เด็กหญิงอายุ 14 ปี ถูกผู้ต้องหา 11 คนรุมโทรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนถึง มกราคม 2566 ซึ่งหนึ่งในผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศร้อยตำรวจเอก หนำซ้ำช่วงหนึ่งของการก่อเหตุยังเป็นช่วงที่เด็กหญิงคนดังกล่าวตั้งครรภ์ และยังพบว่ามีผู้กระทำรายใหม่เพิ่มอีก 4 ราย

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชียงกลม ได้นำตัวผู้ต้องหา 11 คน ฝากขังที่ศาล จังหวัดเลย ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัว 5 คน ส่วนอีก 6 คนไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากโทษค่อนข้างสูง แต่ล่าสุดพบว่าญาติของผู้ต้องหามีการเคลื่อนไหวอย่างหนักในพื้นที่ เพื่อกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงครอบครัวของผู้เสียหายซึ่งมีเพียงแม่ และยายที่พิการตาบอดทั้งสองข้าง ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และกังวลในเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวเป็นอย่างมาก

นางทิชา กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้มีรูปแบบใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นที่บ้านเกาะแรดจังหวัดพังงา ในปี 2559 มีกลุ่มผู้ก่อเหตุจำนวนมาก เป็นกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่และทำมาต่อเนื่อง ซึ่งครอบครัวผู้ถูกกระทำมีฐานะยากจน ไม่มีปากมีเสียง ต้องออกไปทำงานตัดยางตอนกลางคืน ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุสบช่องในช่วงเวลาดังกล่าวเข้ามากระทำ และจะจบที่การข่มขู่สารพัด และจากกรณีนี้ มูลนิธิเด็กฯ จึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรม ดังนี้

1. ขอให้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งนำเด็กหญิง คุณแม่และคุณยาย เข้าสู่การคุ้มครองพยานโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของพยานและป้องกันไม่ให้ถูกแทรกแซง

2. ขออนุญาตให้มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และทีมงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกระบวนการเสริมพลังใจ (Empowerment) กับเด็กหญิง และครอบครัว อันจะนำไปสู่ความยุติธรรม และการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ขอให้กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะในกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งถอดบทเรียนการทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามองค์กร ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อน นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขระบบ กลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ