เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บมักจะอยู่กับเราโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น วิธีการเฝ้าระวังและใส่ใจสุขภาพจึงเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุด การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำจะทำให้เรารู้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ก่อนที่จะสายเกินไป และเมื่อรู้เร็ว ก็รักษาได้เร็ว โอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อก็มากขึ้นเช่นกัน
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ความร้ายแรงของโรคเป็นมะเร็งอันดับ 3 ของสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย และอันดับ 4 ของสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก แต่ถึงกระนั้น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักก็เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ตรวจคัดกรองได้ และยังสามารถรักษาได้หายขาดด้วย
ปกติแล้วผู้ป่วยโรคนี้จะพบมากในคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ประมาณ 11,000-12,000 คนต่อปีเลยทีเดียว พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย โดยความเสี่ยงหลักของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนี้มาจากพันธุกรรม และพฤติกรรมสุขภาพ
พฤติกรรมสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเนื้อแดง อาหารปิ้งย่าง อาหารที่มีใยอาหารน้อย ไม่ค่อยกินผักและผลไม้ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
รู้จักมะเร็งลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่ เป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบทางเดินอาหาร มีลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ 6 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ผนังประกอบด้วยกล้ามเนื้อ ลำไส้ใหญ่มีหน้าที่ดูดซึมนํ้าจากอาหารที่เรากินเข้าไป และเป็นที่เก็บกากอาหารก่อนที่จะขับถ่ายออกจากร่างกายทางทวารหนัก
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ที่พบบ่อยเกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก จากนั้นติ่งเนื้อจะใช้เวลาช่วงหนึ่งในการพัฒนาเป็นก้อนมะเร็ง ดังนั้นหากรู้ตัวเร็วตรวจพบเร็ว และผ่าตัดติ่งเนื้องอกออกได้เร็ว ก็สามารถป้องกันไม่ให้ติ่งเนื้อพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ แต่หากมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ก้อนมะเร็งจะลุกลามทะลุผนังลำไส้ ซึ่งอาจต้องมาโรงพยาบาลด้วยอาการลำไส้ทะลุหรือลำไส้อุดตัน หรือถ้าเป็นหนักๆ มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นทั่วร่างกาย
เช็กสัญญาณ คุณเข้าข่ายโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเปล่า?
หากคุณมีสัญาณเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจสอบวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง
- พบประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีอาการปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ตัวซีดลงอย่างเห็นได้ชัด
- มีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกท้องเสียสลับกันแบบเรื้อรัง
- รู้สึกปวดเบ่งหรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด
- ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ อุจจาระมีเลือดปน
- คลำเจอก้อนเนื้อในช่องท้อง
ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้นแบ่งระยะของโรคออกเป็น 4 ระยะคือ
ระยะเริ่มต้นถึงระยะที่ 1
ในระยะเริ่มต้นจะพบติ่งเนื้อขนาดเล็กภายในเยื่อบุผนังลำไส้ เมื่อติ่งเนื้อขนาดใหญ่ขึ้นจะเริ่มฝังตัวในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่แต่ไม่ทะลุชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ โดยที่ยังไม่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่นหรือลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง ระยะนี้แพทย์จะผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออก
ระยะที่ 2
ก้อนมะเร็งจะกระจายออกมาสู่ผนังลำไส้ใหญ่และทวารหนักส่วนนอกหรือไปเนื้อเยื่อใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลือง ซึ่งการรักษาจะซับซ้อนกว่าระยะแรก แพทย์จะผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออก ในบางรายอาจต้องให้เคมีบำบัดหลังจากผ่าตัดด้วย หากก้อนมะเร็งอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัดด้วย
ระยะที่ 3
เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งแพร่กระจายออกจากลำไส้ใหญ่เข้าไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่บริเวณรอบๆ แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ระยะนี้แพทย์จะผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออก ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด หากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัด
ระยะที่ 4
เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งส่วนที่อันตรายคือที่ตับและปอด เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ โอกาสในการรักษาให้หายขาดน้อยลงมาก และยังมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด และพิจารณาใช้ยาออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งร่วมด้วยเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ผู้ป่วยบางรายอาจต้องผ่าตัด
การรักษาและประคับประคองอาการ
การรักษาของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ และวินิจฉัยเจอระยะแรกๆ มีโอกาสจะรักษาได้หายขาดสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เนื่องจากการเติบโตของก้อนเนื้อมะเร็งนี้ก่อนจะใหญ่โตร้ายแรงจนอันตรายถึงชีวิต มันจะมีลักษณะเป็นเพียงติ่งเนื้อเท่านั้น ซึ่งถ้าพบได้เร็ว แพทย์จะทำการผ่าตัดเนื้อร้ายนั้นทิ้งและรักษาตามอาการจนดีขึ้น
แต่ถ้าหากรู้ตัวช้า พบก้อนมะเร็งที่เริ่มลุกลามไปแล้ว โอกาสที่จะรักษาหายก็จะน้อยลง โอกาสเสียชีวิตมีสูงมากขึ้น แพทย์จึงต้องให้การรักษาร่วมกับการประคับประคองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
การตรวจคัดกรองโรค
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองได้ โดยดูจากปัจจัยเสี่ยงว่าเข้าข่ายผู้ที่มีความเสี่ยงหรือไม่ ดังนี้
- พบคนในครอบครัวสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคได้ หากพบคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้
- มีปัญหาการอักเสบของลำไส้ใหญ่เรื้อรัง จนมีลักษณะอาการของโรค
- พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และพฤติกรรมการออกกำลังกาย
ซึ่งถ้าหากมีอาการต้องสงสัยหรือพบปัจจัยเสี่ยงและต้องการตรวจหาโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพื่อลดอัตราการป่วยในระยะรุนแรงจนเสียชีวิต สามารถทำได้ด้วยวิธีดังนี้
1. การตรวจอุจจาระ
- การตรวจหาเลือดในอุจจาระเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่อาจปะปนมากับอุจจาระ ซึ่งเป็นการตรวจหาเลือดปริมาณน้อยมากๆ ที่ปนอยู่ในอุจจาระในระยะเริ่มแรก จะมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
- การตรวจหาดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งหรือติ่งเนื้อ เมื่อเนื้องอกลำไส้ใหญ่มีการหลุดลอกและขัถ่ายมาพร้อมกับอุจจาระ ทำให้สามารถตรวจพบดีเอ็นเอที่ผิดปกติในอุจจาระได้
2. การตรวจด้วยภาพ
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยภาพเสมือนจริง (CT Colonography) โดยการใส่ลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ขยายตัวจนเห็นรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่ทำได้ จากนั้นจึงเอกซเรย์ภาพตัดขวาง แล้วนำข้อมูลที่ได้มาสร้างภาพสามมิติให้เป็นภาพเสมือนจริงของลักษณะภายในลำไส้ใหญ่เพื่อดูความผิดปกติ อย่างติ่งเนื้อ หรือรอยโรคอื่นๆ ที่ปรากฏในลำไส้ใหญ่
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คือ การใส่กล้องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจความผิดปกติของลำไส้ตรง และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หากพบร่องรอยของโรค วิธีนี้สามารถตัดชิ้นเนื้อต้องสงสัยออกมาตรวจสอบได้
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นการส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ทั้งหมด วิธีนี้จะสามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้เช่นกัน และเป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำมากที่สุดด้วย