พท.หวั่น บัตรโหล เอื้อบางพรรค จี้ กกต. เพิ่ม รายชื่อ-โลโก้พรรคการเมือง เกรง ปชช.สับสน

Home » พท.หวั่น บัตรโหล เอื้อบางพรรค จี้ กกต. เพิ่ม รายชื่อ-โลโก้พรรคการเมือง เกรง ปชช.สับสน


พท.หวั่น บัตรโหล เอื้อบางพรรค จี้ กกต. เพิ่ม รายชื่อ-โลโก้พรรคการเมือง เกรง ปชช.สับสน

เพื่อไทย หวั่น บัตรโหล เอื้อบางพรรค จี้ กกต. พิจารณา เพิ่มรายชื่อ-โลโก้พรรคการเมือง เอื้อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สับสน ป้องกันบัตรเสีย

1 เม.ย. 66 – นายสุทิน คลังแสง อดีต ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีเฉพาะหมายเลข(เบอร์) ผู้สมัคร หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบัตรโหล ว่า

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องให้ กกต. ทบทวนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง แบบบัตรโหล เพื่อหวังให้กกต.ได้พิจารณาการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งใหม่ ซึ่งควรจะเพิ่มรายชื่อ และโลโก้ของพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สับสน ป้องกันบัตรเสีย

นายสุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนที่ เลขากกต. ชี้แจงว่า การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบบัตรโหล ยึดตามกฎหมายนั้น ตนอยากให้ กกต.ได้อ่านกฎหมายให้ครบทุกฉบับ รวมยึดเจตนารมณ์ สูงสุดของการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย คือ ต้องทำให้การเลือกตั้งออกมาโปร่งใสและเที่ยงธรรมที่สุด

ซึ่งการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ให้มีรายละเอียดโลโก้ และชื่อพรรคเพิ่มเข้าไปด้วย จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเข้าไปเลือกผู้แทนราษฎร ได้ตรงตามเจตจำนงค์ของประชาชน ป้องกันความสับสนและบัตรเสีย

เนื่องจากตามกฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้ หมายเลขของผู้สมัครส.ส.เขต กับ หมายเลขของพรรคการเมืองหมายเลขจะไม่เหมือนกัน พรรคพท. ไม่อยากเชื่อมโยงว่า การจัดพิมพ์บัตรโหล เพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่ จึงให้ กกต.ได้ฟังเสียงสะท้อนแล้วนำไปทบทวน เพื่อจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งให้ประชาชน ไม่สับสน อีกทั้งเตรียมติวผู้สมัครแก้เกมหาเสียงป้องบัตรเสีย

เมื่อถามว่า หาก กกต.ยังยืนยันว่า ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบบัตรโหลมาใช้ในการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย จะต้องปรับกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องเพิ่มการสื่อสารกับประชาชน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มากขึ้น ทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขต 400 คน และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมทั้งผู้ช่วยหาเสียง ทีมงานที่ร่วมลงพื้นที่หาเสียงร่วมกับผู้สมัครส.ส. ต้องชี้แจงทำความเข้าใจต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้บัตรมีรุปแบบอย่างไร

“ตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต กับ พรรคการเมือง จะได้หมายเลขไม่เหมือนกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่อาจจะสับสนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่เกิดตัวเลขบัตรเสีย เพราะจากสถิติในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ตัวเลขของบัตรเสียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งกกต.ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง ควรต้องออกแบบการจัดการเลือกตั้งให้มีตัวเลขของบัตรเสียมีสัดส่วนที่น้อยลง เพื่อให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนฉันทามติของประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายสุทิน กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ