ผู้บริโภคขอสภาโหวตร่าง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ เพิ่มคุ้มครองประชาชน เพิ่มบทลงโทษโฆษณาเกินจริง คุก 3 ปี ปรับ 3 แสน เหตตุ กม.เก่าล้าสมัย ขายอาหารหมดอายุผิดทันที
25 พ.ย. 65 – น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคขอให้สภาผู้แทนราษฎร สนับสนุน พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ ผ่านการพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะจะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาโฆษณาเกินจริง
ทั้งนี้ จากสถิติเรื่องร้องเรียนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ข้อมูลวันที่ 18 ต.ค. 2565 พบว่า ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นอันดับที่ 4 ของปัญหาของผู้บริโภค จากทั้ง 9 ด้าน โดยพบปัญหาการโฆษณาเกินจริง สินค้าไม่มีฉลาก การขายอาหารที่หมดอายุ
“เมื่อต้นปี 2565 พบเด็กป่วยเป็นเมทฮีโมโกลบิน 6 คน จากการกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ต่อมา ต.ค.2565 พบการเรียกคืนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ชนิดของหมี่ซีดาพ เนื่องจากพบสารเอทิลีนออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาฆ่าแมลง ปัญหาการขายโดนัทหมดอายุ” น.ส.มลฤดีกล่าว
น.ส.มลฤดี กล่าวว่า เมื่อ อย.ได้ปรับปรุง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ ขณะนี้กำลังจะถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนฯ ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงต้องการให้ ส.ส. เห็นความสำคัญและให้ พ.ร.บ.อาหารดังกล่าว ผ่านการพิจารณา เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ที่มีความล้าสมัย คำนิยามที่ไม่ครอบคลุม การให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ไม่ชัดเจน และมีบทลงโทษที่เบาเกินไปจนทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวและทำให้สามารถกระทำผิดซ้ำได้
“การออก พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เช่น การขายอาหารหมดอายุจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจะครอบคลุมอาหารแปรรูปทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การกำกับของ อย.
ถือว่าเป็นอาหารเสื่อมคุณภาพทันที หรืออำนาจในการเรียกคืนสินค้า เมื่อพบว่ าสินค้าอันตราย และการเพิ่มบทลงโทษที่มากขึ้นสำหรับการโฆษณาเกินจริง ที่มีข้อความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมและส่วนรวม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” น.ส.มลฤดีกล่าว