คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
อาฟเตอร์ช็อกกรณีสิระ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยนายสิระ เจนจาคะ ขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 98(10) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดี ฉ้อโกง จึงทำให้ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 101(6) นับตั้งแต่วันเลือกตั้งคือวันที่ 24 มีนาคม 2562
กรณีนี้ เคยมีผู้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ตรวจสอบ แต่ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการพิจารณา อ้างว่าให้รอคำวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันนี้จากศาลรัฐธรรมนูญก่อน
จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าขาดคุณสมบัติจริง
หลังมีคำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด ทำให้มีผลสืบเนื่องตามมาอีกระลอก ทั้งในส่วนของผู้ถูกร้อง พรรคการเมืองที่สังกัด สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการการเลือกตั้ง
สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเรียกคืนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จ่ายให้ทั้งหมด ประกอบด้วยเงินเดือน เบี้ยประชุมกรรมาธิการ เงินเดือนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วย ส.ส. รวม 7 คน และอื่นๆ ย้อนหลังไปตั้งแต่วันแรกที่ได้รับ
รวมถึงสรรหาประธานคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายสิระต้องพ้นสภาพตามไปด้วย หลังจากมีคำวินิจฉัย
โดยค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับนั้นจะต้องเรียกคืนภายในกำหนด 30 วัน
ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐนั้น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดความผิดกรณีหัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรอันเป็นเท็จ มีโทษทางอาญาและอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถือว่ามีหน้าที่ โดยตรงตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการต่อหลายประการ เช่น ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งและฟ้องดำเนินคดีอาญาฐานใช้หลักฐานอันเป็นเท็จในการสมัครเลือกตั้ง
ตามมาตรา 151 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 บัญญัติว่าผู้สมัครใดรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติมีสิทธิรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
ที่น่าจับตาก็คือผลพวงจากความผิดนี้ จะถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้นด้วยหรือไม่