“ถั่วงอก” ผักที่พบในหลากหลายเมนูของอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นผักเครื่องเคียงของก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย หอยทอด ตำถาด หรือแม้กระทั่งผัดถั่วงอกที่เปลี่ยนจากผักเครื่องเคียงมาเป็นเมนูหลัก แม้ว่าถั่วงอกจะอยู่ในอาหารที่เรารับประทานกันอยู่บ่อย ๆ แต่หากเป็น “ถั่วงอกดิบ” เราอาจไม่อยากแนะนำให้รับประทานกันสักเท่าไร เพราะอาจส่งผลเสียบางอย่างต่อร่างกายได้
อันตรายจากถั่วงอกดิบ
ถั่วงอกดิบพบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอย่าง ซาลโมเนลลา หรืออีโคไล ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้น ที่ต่างประเทศก็พบการปนเปื้อนของเชื้อโรคเช่นกัน เมื่อทำการเพาะถั่วงอก ความชื้นและอุณหภูมิของถั่วงอกในการเจริญเติบโต เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ถั่วงอกอาจพบสารฟอกสีที่มีฤทธิ์ฟอกขาวได้สูง เพราะผู้ผลิตบางรายนำสารฟอกขาวมาแช่ถั่วงอก เพื่อให้ถั่วงอกมีสีขาว อวบ น่ารับประทานและเก็บไว้จำหน่ายได้นาน
แม้ว่าจะมีสารฟอกขาวบางประเภทที่อนุญาตให้นำมาใช้ในอาหารได้ เช่น โซเดียมซัลไฟต์ แต่เนื่องจากเป็นสารฟอกขาวที่มีฤทธิ์ในการฟอกต่ำ ผู้จำหน่ายจึงนิยมใช้สารฟอกขาวประเภทที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารมากกว่า คือ โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์มาผสม สารนี้มีฤทธิ์ฟอกขาวได้สูงกว่าประเภทแรก 2-3 เท่า สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ แต่มีอันตรายต่อร่างกายเมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดอาการหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง สำหรับผู้ที่แพ้อย่างรุนแรงหรือป่วยเป็นโรคหอบหืดจะมีอาการรุนแรงขึ้น มีอาการช็อค หมดสติและอาจเสียชีวิตได้
วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากถั่วงอก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วงอกดิบหากไม่ทราบแหล่งผลิตที่ชัดเจน
- ปรุงถั่วงอกให้สุกก่อนรับประทานเสมอ อาจบอกร้านอาหารให้ลวก หรือปรุงถั่วงอกให้สุกก่อนใส่ลงไปในก๋วยเตี๋ยว และเมนูอาหารอื่น ๆ เป็นต้น การปรุงถั่วงอกให้สุกก่อนรับประทาน จะทำให้สารไฮโดรซัลไฟต์ที่อาจมีอยู่ในถั่วงอกถูกทำลายด้วยความร้อน ซึ่งจะปลอดภัยกว่าการนำถั่วงอกดิบมารับประทานสด ๆ
- ไม่ควรเลือกถั่วงอกที่มีสีขาวผิดปกติ
- หากจำเป็นต้องรับประทานถั่วงอกดิบจริง ๆ ควรหลีกเลี่ยงถั่วงอกที่มีสีคล้ำ มีส่วนเน่าเสียปนอยู่เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้