‘ตรีนุช’ เผยภาพรวมเปิดเรียนออนไซต์วันที่ 2 เด็ก-ผู้ปกครองมีความสุข ย้ำครูประเมินความรู้ น.ร. แก้เรียนรู้ถดถอย
18 พฤษภาคม 2565 – โรงเรียนวัดนิยมยาตรา อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน ในวันที่ 2 ของการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ว่า
จากการพูดคุยกับเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง พบว่าทุกคนรู้สึกดีใจที่เด็กๆได้กลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง โดยผู้บริหารโรงเรียนได้ให้กำลังใจครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องเตรียมตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั้งเรื่องของการดูแลเด็ก การรักษาระยะห่าง รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา
อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับด้วยว่าให้เข้มงวดมาตรการ 6-6-7 และเน้นย้ำเรื่องการประเมินความรู้ของเด็กว่ามีการถดถอยทางวิชาการหรือไม่ เพื่อครูจะได้จัดการเรียนการสอน ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับตัวเด็ก
“เนื่องจาก เด็กที่กลับเข้าสู่ห้องเรียนตอนนี้ จะมีระดับความรู้ที่ไม่เท่ากัน การประเมินความรู้ของเด็ก จะทำให้ครูรู้ว่าเด็กคนไหนต้องได้รับการดูแลอย่างไร ใครที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้จัดตารางเรียนให้เหมาะสม และแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ได้ และที่สำคัญ ดิฉันได้เน้นย้ำเรื่องของสุขภาพจิตด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญ โดยจะทำอย่างไรให้เด็กมีความสุขที่ได้กลับมาเรียนหนังสือ เพื่อให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อไปได้”น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ภาพรวมการเปิดเทอมแบบออนไซต์ 2 วันมานี้ ถือว่าเรียบร้อย ได้รับรายงานว่าโรงเรียนดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น ผู้ปกครองมีความกังวลลดลง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ในปัจจุบันทุกคนมีความเข้าใจแล้วว่าโรคโควิด-19 มีความรุนแรงน้อยลง จึงทำให้ผู้ปกครองสบายใจขึ้น
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภาพรวมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ว่า ภาพรวมการเปิดเรียนทั่วประเทศ พบว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบาย คือ เปิดเรียนในรูปแบบออนไซต์ ในวันที่ 17 พฤษภาษาคมทั่วประเทศ โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาปลอดภัยสำหรับครูและนักเรียนด้วย
หลังจากที่ตนลงพื้นที่โรงเรียนราชวินิต เมื่อวันที่ 17 พฤษาคมที่ผ่านมา ตนเห็นรอยยิ้มของนักเรียนที่ได้กลับเข้ามาเรียน และพบว่านักเรียนและผู้ปกครองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความสุขที่ได้มาโรงเรียน อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดเรียนแล้ว ก็จะพบปัญหาในบางประเด็น เช่น เด็กมาอยู่ร่วมกันอาจจะมีการเล่นจนทำให้หน้ากากอนามัยหลุด หรือไม่มีการเว้นระยะห่างกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าถ้าผู้ปกครองดูแลบ้านให้เกิดความปลอดภัย เมื่อนักเรียนเดินทางมาโรงเรียนก็ควรให้เดินมาโดยยานพาหนะที่มีความปลอดภัย และเมื่อมาโรงเรียนให้นักเรียนปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเข้มข้น เชื่อว่าทั้ง 3 ส่วนร่วมมือทำอย่างเต็มที่ จะเห็นนักเรียนเข้ามาเรียนอย่างมีความสุข และปลอดภัยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ยังพบผู้ปกครองบางคนยังไม่พร้อมที่จะให้นักเรียนมาเรียนออนไซต์ เพราะมีคนแก่อยู่ในครอบครัวกลัวว่าเด็กจะนำเชื้อมาแพร่ที่บ้าน จึงขอให้เรียนรูปแบบอื่นอยู่ที่บ้าน ซึ่ง สพฐ.ไม่มีบังคับให้เด็กมาเรียนในโรงเรียนทุกคน และพร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือนักเรียนเต็มที่
และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนบางคนไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนเลย และเมื่อเปิดภาคเรียนมาทำให้นักเรียนบางคนอาจจะไม่มีความพร้อมในเรื่องเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ตนจึงเร่งรัดให้โรงเรียนทุกแห่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเฉพาะเงินอุดหนุนรายหัว เรียนฟรี 15 ปี 5 รายการ ให้ผู้ปกครองโดยเร็ว
ขณะเดียวกันจะมีโรงเรียนบางแห่งเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาด้วย ซึ่งสพฐ.แจ้งแนวนโยบายให้กับโรงเรียนไปว่า หากผู้ปกครองไม่มีความพร้อมด้านการเงิน ให้โรงเรียนช่วยเหลือผู้ปกครองโดยให้ผู้ปกครองผ่อนจ่ายตามความพร้อม หรืออาจจะลดราคา หรือตัดทอนราคาในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปกครองที่ประสบปัญหาและหาทางออกไม่ได้ ให้มาหารือกับผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู เพื่อให้โรงเรียนหาทางช่วยต่อไป ซึ่งสพฐ.ยืนยันว่านักเรียนไม่ว่าจะยากดีมีจนจะต้องได้เรียนทุกคน
ด้านนายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 กรุงเทพมหานคร (สพม. 1 กทม.) กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพม.1 กทม. ได้เปิดเรียนออนไซต์ 100% แต่ถ้าผู้ปกครองไม่อยากให้นักเรียนมาเรียนออนไซต์ โรงเรียนพร้อมจะจัดการเรียนการสอนตามความต้องการของผู้ปกครอง
ส่วนโรงเรียนต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยจะต้องตัดความเสี่ยงสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน คือ ปฏิบัติมาตรการ 6-6-7 อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครอง