ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดเปิดพื้นที่ Sandbox และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
วันนี้ (22 กันยายน 2564) เมื่อเวลา 12.30 น. การแถลงข่าวประจำวัน ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวและตอบคำถามต่อกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เรื่อง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
เมื่อวานนี้ (21 กันยายน 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับปรุงเนื้อหาให้มีความเหมาะสม ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งต้องใช้เวลา ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาบังคับได้ ยืนยันว่ายังไม่บังคับใช้ และไม่น่าจะทัน 1 ตุลาคม 2564
2. กรณีการเปิดพื้นที่ Sandbox เป็นพื้นที่นำร่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งรวมกรุงเทพฯ มีกระแสข่าวว่าจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
เช้านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอแผนการเปิดพื้นที่ต่างๆ ซึ่งที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้รับทราบแผน และจะมีกระบวนการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป โดยก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินงานในส่วนของ Sandbox ของภูเก็ต และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง Sealed routes ไปต่อที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เชื่อมโยงภูเก็ต-กระบี่ ภูเก็ต-พังงา ซึ่งก็เป็นจุดที่มีการดำเนินงานจนเราเห็นขั้นตอนแนวทางปฏิบัติที่ดี และทำให้ขั้นต่อไป พื้นที่จังหวัดที่จะเปิดตามมาซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ จะต้องมีข้อพิจารณาโดยรอบคอบ
ทั้งนี้ จุดสำคัญ คือ ความมั่นใจ อยากให้การฉีดวัคซีนในเข็มที่ 2 มีความครอบคลุมถึง 70% ซึ่งคาดว่าจะครบถ้วนภายในเดือน ต.ค. 2564 และกรอบเวลาที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอมา คือ น่าจะเปิดได้ในช่วง 1 พ.ย. 2564 โดยจะต้องมีการพิจารณารายละเอียดและแนวทางต่อไป ต้องมีความพร้อมทั้งส่วนประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางจะเข้ามาต้องมีหลักเกณฑ์และระบบข้อมูลในการติดตามที่มีความพร้อม เช่น ในหลายพื้นที่อยากเห็นความครอบคลุมการฉีดวัคซีนในระดับเขต/อำเภอ ที่มีรายละเอียดลงไปให้แน่ใจ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องมีการฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมที่สูงขึ้น รวมทั้งยังมีกลไก หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคส่วนการสาธารณสุข ท้องถิ่น หรือนอกสาธารณสุข ต้องมีความพร้อมที่จะรับมือเมื่อดำเนินการ
- ผู้ว่าฯ อัศวิน เผย 3 ข้อ แนวทางกรุงเทพฯ เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคฯ ได้ยกตัวอย่างโครงการ Phuket Sandbox ที่มีบริการของ “คลินิกอุ่นใจ” ทำให้คนเข้าถึงบริการการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ทั้งคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่เข้ามา สามารถที่จะโทรเข้าไปติดต่อ โดยคลินิกซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสามารถเข้าไปตรวจวินิจฉัย ตอนนี้มีตรวจเจอในระยะเวลาที่ผ่านมาที่เปิดเรียนวันที่ 16 – 21 กันยายน มีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อร่วม 100 ราย และก็เข้าสู่การแยกกักตัวที่บ้านหรือเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลได้ตามระบบเป็นอย่างดี ต่อไปคงจะเป็นส่วนที่ทำอย่างไรจะมีระบบบริการถ้าในกรณีที่เปิดพื้นที่ในจุดต่างๆ จะสามารถเป็นบทเรียนที่ดีเป็นอย่างมากสำหรับพื้นที่อื่นที่จะเปิดหลังจากนี้ที่จะเรียนรู้แล้วนำไปปรับประยุกต์ใช้ต่อไป
3. กรณีวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น (Booster dose) ที่จะเริ่มฉีดในวันที่ 24 กันยายน 2564 และมีประชาชนสอบถามว่า ผู้ที่จองวัคซีนทางเลือกจากภาคเอกชนไว้ เช่น วัคซีน Moderna จะสามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้หรือไม่
นพ.เฉวตสรร ยืนยันว่า หากเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ให้ถือเอาวัคซีน Moderna เป็นเข็มกระตุ้นได้ ขณะเดียวกันทางหน่วยงานรัฐจะมีการให้บริการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เช่นเดียวกัน โดยในช่วงแรกของการให้บริการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จะเปิดให้สำหรับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มไปตั้งแต่เมื่อช่วงก่อนเดือน พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะได้รับการติดต่อจากหน่วยงานของสาธารณสุข ผ่านทาง sms หรือ แอปพลิเคชันหมอพร้อม ทั้งนี้ หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่จุดฉีดวัคซีนที่เคยเข้ารับบริการ
อย่างไรก็ตาม นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ เป็นตัวสร้างความมั่นใจทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย ฉะนั้น การจะใช้ชีวิตแบบ New Normal ได้อย่างระมัดระวัง มีวัคซีนครอบคลุมจะสร้างความมั่นใจให้ดำรงชีวิตอย่างราบรื่นและเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขอให้ประชาชนมั่นใจร่วมมือกันฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กำหนดในปีนี้