"Second Season Syndrome" : โรคร้ายทีมน้องใหม่ในโลกฟุตบอล

Home » "Second Season Syndrome" : โรคร้ายทีมน้องใหม่ในโลกฟุตบอล

เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เป็นทีมแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2020-21 ที่ต้องเริ่มต้นใหม่ซีซั่นถัดไปในลีกแชมเปียนชิพ หลัง 32 นัดผ่านไป ยังจมบ๊วยอยู่ที่ 14 คะแนน ทำให้แม้ตามหลักทฤษฎี ก็ถือว่าตายสนิท

หากย้อนไปปีที่แล้ว ทัพ “ดาบคู่” เข้าป้ายอันดับ 9 ในลีก โดยไม่เคยหล่นไปสัมผัสครึ่งล่างของตารางเลยตั้งแต่นัดที่ 9 และกุนซือ คริส ไวล์เดอร์ ยังได้รับรางวัลผู้จัดการทีมแห่งปี 2019 จากสมาคมผู้จัดการทีม (LMA) แซงหน้าทั้ง เป๊ป กวาร์ดิโอลา และ เยอร์เกน คล็อปป์ พร้อมได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงผู้จัดการทีมแห่งปีของพรีเมียร์ลีกอีกด้วย

ทั้ง อิปสวิช ทาวน์ และ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ คือตัวอย่างสโมสรผู้เผชิญชะตากรรมเดียวกันกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด นี่คือโรคร้ายตามหลอนทีมเพิ่งเลื่อนชั้น หรือแค่ปัจจัยภายนอกของผู้แข็งแกร่งไม่พอกันแน่?

Main Stand จะพาท่านไปหาคำตอบกัน..

น้องใหม่ไฟแรง

เมื่อเอ่ยถึงทีมหน้าใหม่พรีเมียร์ลีกในแต่ละฤดูกาล ส่วนมากแล้วชื่อพวกเขามักจมอยู่ครึ่งล่างของตาราง ขับเคี่ยวกันเพื่อหนีพื้นที่สีแดง และทำทุกวิถีทางเพื่อสูดอากาศหายใจบนลีกสูงสุดของประเทศให้ได้นานที่สุด

ในเวลาเดียวกัน น้องใหม่เหล่านี้ก็ทำให้ยักษ์ใหญ่หัวตารางสั่นสะเทือนได้เช่นกัน โดยช่วงเวลา 3 ฤดูกาลหลังสุดนั้น วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส สามารถขึ้นมาจบอันดับ 7 คว้าตั๋วไป ยูโรปา ลีก ได้ตั้งแต่ปีแรกที่เลื่อนชั้นในฤดูกาล 2018-19 ตามด้วย เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่จบห่างจากพื้นที่บอลยุโรปเพียง 5 แต้มในฤดูกาล 2019-20 และ ลีดส์ ยูไนเต็ด ผู้บุกไปคว่ำจ่าฝูง “เรือใบสีฟ้า” ถึงถิ่น พร้อมยังมีลุ้นไปเตะรายการใหม่ของยูฟ่า อย่าง คอนเฟอเรนซ์ ลีก อยู่ด้วย

1

หากย้อนไปไกลกว่านั้น อิปสวิช ทาวน์ เคยคว้าอันดับ 5 ของพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2000-01 ได้ไปเล่น ยูฟ่า คัพ (ณ เวลานั้น) โดยห่างจากพื้นที่ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เพียงแค่ 3 แต้ม เบอร์มิงแฮม ซิตี้ เลื่อนชั้นขึ้นมาในฤดูกาล 2009-10 ขึ้นไปจบที่อันดับ 9 และคว้าแชมป์ลีก คัพ ด้วยการพลิกชนะอาร์เซน่อล 2-1 เพียงหนึ่งซีซั่นให้หลัง ทั้งคู่ต่างดูเหมือนน้องใหม่ผู้ที่เพียบพร้อม กับการเป็นขาประจำในลีกสูงสุดของประเทศแล้ว

แต่สิ่งที่ทั้งสองทีมเหมือนกัน คือหล่นจากพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลที่สอง และยังคงไม่หวนคืนกลับมาอีกเลย โดย เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด กำลังจะตามรอยตำนานเหล่านี้ไป ทว่าไม่มีใครทราบชะตากรรมหลังจากนี้ว่าพลพรรค “ดาบคู่” จะกลับมาได้ช้าเร็วเพียงใด

เส้นทางสู่ความอยู่รอด

การไต่เต้าขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดของประเทศได้สำเร็จ นอกจากได้แสดงศักยภาพสโมสรออกสู่สายตาชาวโลก ยังเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และรายได้ต่างๆ ที่ทำให้แมตช์เพลย์ออฟขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก สามารถทำเงินให้ผู้ชนะได้ยิ่งกว่าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เสียอีก

2

เพื่อเอาตัวรอดในสังเวียนที่รวบรวม 20 สุดยอดสโมสรแห่งเกาะอังกฤษนี้ แต่ละทีมมีทางออกต่างกัน บ้างเสริมทัพเต็มที่ ถลุงทุนที่ได้รับมาอย่างไม่อั้น ทั้งจากพรีเมียร์ลีกและเจ้าของสโมสรกระเป๋าหนัก อย่างเช่น ฟูแล่ม ในฤดูกาล 2018-19 ที่ซื้อและยืมตัวรวมมากกว่า 100 ล้านปอนด์ และ แอสตัน วิลลา ผู้จับจ่ายใช้สอยไป 144.5 ล้านปอนด์ เมื่อเลื่อนชั้นกลับมาหนึ่งปีให้หลังทีม “เจ้าสัวน้อย”

ในทางกลับกัน บางสโมสรเลือกใช้การบริหารทรัพยากรด้วยความประหยัด คงสภาพผู้เล่นชุดเดิม เสริมเท่าที่จำเป็น เน้นตัวฟรีและตัวยืม โดยตัวอย่างที่ชัดสุดคงไม่พ้น นอริช ซิตี้ ที่เลื่อนชั้นขึ้นมาพร้อมกับ แอสตัน วิลลา ทว่ากลับสูญทรัพย์กับการซื้อนักเตะไปแค่ 1.1 ล้านปอนด์ ในการดึงตัว แซม บายรัม กับ แดเนียล แอดชีด เข้าสู่ทีม

ไม่ว่าจะดำเนินด้วยวิธีการใด เป้าหมายของสโมสรน้องใหม่เหล่านี้ย่อมมีเหมือนกันคือการเอาตัวรอดให้ได้ ตามสถิติ มีแค่ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2002-03 ทีมเดียว ที่จบฤดูกาลด้วยการมี 42 แต้มแล้วตกชั้น และตามค่าเฉลี่ย การคว้าอย่างน้อย 37 คะแนน ก็เพียงพอต่อลมหายใจบนพรีเมียร์ลีกมาแล้ว 18 ใน 25 หน

แต่ทีนี้ทำไมบางสโมสรถึงสามารถโชว์ผลงานได้เป็นอย่างดีในปีแรกบนพรีเมียร์ลีก ก่อนจะร่วงตกชั้นอย่างน้อยใจหายในปีถัดไปได้?

เป็นตัวละครลับ

ทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นมา แบ่งประเภทได้คร่าวๆคือ พวกหน้าคุ้น เพิ่งตกชั้นไปไม่กี่ฤดูกาล มีขุมกำลังพลดีพอฟัดพอเหวี่ยงได้ หรือบรรดา “โยโย่ ทีม” สโมสรฟอร์มแรงเกินกว่าจะลงเล่นในแชมเปียนชิพ แต่ดีไม่พอจะยืนระยะบนพรีเมียร์ลีกได้ สองจำพวกนี้มักสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น หรือวนเวียนอยู่โซนท้ายตารางเป็นส่วนมากของซีซั่น

3

แต่กับทีมที่หายตัวไปนาน หรือไม่เคยขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกเลย พวกเขามักทำเซอร์ไพรส์ได้อยู่เสมอ ดั่งเช่น เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ผู้เดบิวต์ฤดูกาลแรกด้วยการพลาดพื้นที่บอลยุโรปไปแค่ 5 แต้ม จากการโชว์ฟอร์มอันน่าประทับใจโดยขุนพลของ คริส ไวล์เดอร์ นำโดย ดีน เฮนเดอร์สัน, คริส บาแชม, จอห์น ลุนด์สตรัม, ลีส มุสเซต์ และ โอลิเวอร์ แม็คเบอร์นี่ ทีม “ดาบคู่” สามารถเอาชนะทั้ง เชลซี, อาร์เซนอล, ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์, พร้อมยันเสมอ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้

ด้วยการที่ทีมหน้าใหม่เหล่านี้ไม่เคยพบกับสโมสรเจ้าประจำของพรีเมียร์ลีก ย่อมทำให้การเก็บข้อมูล รับมือกับวิธีการเล่นของพวกเขาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งการคาดเดาไม่ได้เหล่านี้ก็เป็นจุดเด่นที่ทำให้ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ยึดครึ่งบนตารางอย่างเหนียวแน่นเกือบ 30 นัดด้วยกัน

พวกมวยรอง

เมื่อเป็นพวกทีมเพิ่งเลื่อนชั้น การมาเจอกับเจ้าเก่าบนลีก ย่อมส่งให้พวกเขากลายเป็นมวยรองบ่อนไปโดยปริยาย และการถูกคาดหวังว่าสโมสรเหล่านี้จะแพ้ในหลายๆเกม มันช่วยทั้งคลายความกดดันในการลงเล่น เพราะไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่าความพ่ายแพ้อีกแล้ว 

4

แถมมันยังกลายเป็นแรงบันดาลใจชั้นดี สำหรับการพิสูจน์ว่าพวกเขามีดีกว่าที่โลกรู้ และแรงกระตุ้นเพิ่มเติมแม้สัก 5% ก็เพียงพอต่อการเปลี่ยนจากแพ้เป็นเสมอหรือชนะได้เลย

แต่แล้วเมื่อบรรดามวยรองเหล่านี้เอาตัวรอดมาได้แบบสวยหรู ก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง ว่าพวกเขาดีพอกับตำแหน่งที่ตัวเองอยู่จริงหรือไม่?

บางทีมที่แข็งแกร่งพอก็สามารถแปรเปลี่ยนสู่เจ้าประจำของลีกได้ แต่กับบางสโมสร Second Season Syndrome กำลังย่างกรายเข้ามาหลอกหลอนพวกเขาอยู่

อ่อนแอก็แพ้ไป

ก้าวเข้าสู่ฤดูกาลที่สอง อะไรที่เคยเป็นตัวช่วยเมื่อซีซั่นก่อน ก็เริ่มวกกลับมาทำลายทีมนั้นๆ เมื่อบาดแผลจากฤดูกาลแรกเลือนจางไป การพบเจออดีตน้องใหม่เหล่านี้ย่อมสามารถโดนจับทางได้มากขึ้น แท็กติกเดิมๆที่เคยใช้ได้ กลับไม่อาจงัดมาสู้บรรดาสโมสรในอีกระดับหนึ่งได้เหมือนเคย

5

เมื่อความคาดหวังจากแฟนบอล, สื่อ หรือแม้แต่จากในสโมสรถาโถมเข้ามา ความกดดันก็ถูกกดลงไปในสนาม กอปรกับแรงกระตุ้นต่างๆที่มลายหายไป ย่อมทำให้ทุกสิ่งไม่ได้ดั่งใจอีกแล้ว ผลงานเกือบแพ้กลายเป็นเกือบเสมอหรือเกือบชนะเสียส่วนใหญ่แทน

แถมการลงเล่นในลีกที่สปีดบอลค่อนข้างเร็ว การออกบอลช้าไปจังหวะเดียว อาจหมายถึงโดนฉกแย่งบอลไปลุ้นทำประตูได้อย่างง่ายดาย จนส่งผลให้ผู้เล่นเกิดอาการล้าสะสม ยิ่งกับสโมสรที่มีขนาดทีมค่อนข้างเล็กแล้วนั้น นั่นอาจหมายถึงอาการบาดเจ็บหรือลงเล่นแบบไม่ฟิตเต็มร้อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีในการลงเล่นบนเวทีที่ความผิดพลาดอาจมีมูลค่าถึง 3 แต้ม

แต่แล้วบางทีโชคชะตาก็มีส่วนสำคัญ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด กลับมาลงเล่นฤดูกาลที่สองในระหว่างเกิดการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ต้องสูญรายได้ไปบางส่วน กำลังหลักชุดเดิมย้ายออก (ชัดๆก็ ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูมือดีที่ถูก แมนฯ ยูไนเต็ด เจ้าของตัวจริงดึงกลับไปเฝ้าเสา) เสริมทัพผิดพลาด ไร้ซึ่งแฟนบอลเข้าสนาม ผู้เล่นตัวหลักประสบปัญหาบาดเจ็บ และหลายคนต้องกรำศึกหนักต่อเนื่องทั้ง 2 ซีซั่น โดยไม่ได้เว้นช่วงให้รายการได้พักฟื้นตัวอย่างเต็มที่ จนทำให้ 17 นัดแรกของฤดูกาล 2020-21 ของพวกเขาผ่านไปโดยไร้ซึ่งชัยชนะใดๆเลย

6

การหักปากกาเซียนพลิกชนะ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ยังไม่เพียงพอให้พวกเขาอยู่รอดบนพรีเมียร์ลีกในซีซั่นถัดไป หลังจากกลายเป็นทีมแรกที่ตกชั้น แม้ยังเหลืออีก 6 นัดในลีกก็ตาม

หากย้อนไปในอดีต สโมสรที่เคยประสบปัญหาป่วยซีซั่นสองอย่าง สวอนซี ซิตี้ ก็ร่วงตกชั้นไปตั้งแต่สมัยดิวิชั่น 1 ในฤดูกาล 1982-83 และทิ้งดิ่งลงสู่ดิวิชั่น 4 เพียงสามปีให้หลัง หนำซ้ำยังเกือบหลุดไปถึงนอกลีกมาแล้วเลยทีเดียว โดยปัจจุบัน “หงส์ขาว” ยังคงโลดแล่นอยู่ในระดับแชมเปียนชิพ รอคอยวันกลับมาสู่ลีกสูงสุดอีกหน หลังไต่เต้ากลับสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้งในฤดูกาล 2011-12 และตกชั้นเมื่อฤดูกาล 2017-18

เทพนิยายเลสเตอร์ ซิตี้

หากมีโรคป่วยซีซั่นสองแล้ว มีหรือที่เราจะไม่เอ่ยถึงเทพนิยายของ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่คือคนละขั้วกับอาการดังกล่าวเลย

เลสเตอร์ เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2014-15 ได้ไม่สู้ดีนัก พวกเขาจมบ๊วยอยู่นานกว่า 4 เดือนครึ่ง จนการชนะ 7 จาก 9 นัดสุดท้ายของลีก ช่วยต่อชะตาให้ “จิ้งจอกสยาม” มีลมหายใจบนลีกสูงสุดได้อีกปี

ด้วยอัตราต่อรองคว้าแชมป์ 5,000-1 หรือเทียบให้เห็นภาพ คือราคาของทีมเต็งตกชั้น พวกเขาอยู่นอกสายตามาโดยตลอด และมีสรรพคุณเพียบพร้อมต่อการประสบปัญหา Second Season Syndrome อย่างไร้ข้อกังขา

7

แต่เมื่อเริ่มต้นซีซั่น 2015-16 ลูกทีมของ เคลาดิโอ รานิเอรี ที่มาคุมทีมต่อจาก ไนเจล เพียร์สัน ไม่เคยหล่นไปต่ำกว่าอันดับ 6 ในลีก และยึดตำแหน่งจ่าฝูงยาวตั้งแต่กลางเดือนมกราคม จนเข้าป้ายแชมป์ลีกสมัยแรกของสโมสรได้สำเร็จ

ปัจจุบัน เลสเตอร์ ภายใต้การบริหารของกลุ่ม คิง เพาเวอร์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของขาประจำในพรีเมียร์ลีก ผู้แย่งชิงพื้นที่ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก อย่างสนุกสนานไปแล้ว เช่นเดียวกับอีกหนึ่งอดีตน้องใหม่อย่าง วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ที่รวบรวมผู้เล่นโปรตุกีสคอนเนคชั่นไว้ ราวกับกลายเป็นทีมชาติโปรตุเกสขนาดย่อม ก็ยังคงอยู่รอดปลอดภัย และเคยได้ไปเล่นบอลยุโรปมาแล้วด้วย

ป่วยซีซั่นสอง โรคร้ายหรือแค่คิดไปเอง?

หากย้อนดูสถิติการตกชั้นตั้งแต่มีพรีเมียร์ลีกก่อตั้งมา โดยนับเริ่มจากฤดูกาล 1994-95 จะพบว่าจาก 85 ครั้งที่มีสโมสรร่วงไปแชมเปียนชิพ มีแค่ 12 คราเท่านั้น ที่เป็นพวก Second Season Syndrome

นั่นหมายความว่า มีสโมสรที่โดนโรคป่วยซีซั่นสองเล่นงานจนตกชั้นไปแค่ 14.1% เท่านั้น ค่อนข้างน้อยเกินกว่าที่จะกล่าวโดยรวมว่า ทีมน้องใหม่ไฟแรงส่วนมากจะประสบพบเจอกับการตกชั้นในปีถัดไป

8

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่มีข้อกำหนดใดมาจำกัดไว้ ทีมยักษ์ใหญ่อาจมีวันร่วงหล่นลงไป สโมสรน้องใหม่อาจพุ่งทะยานมายึดครองความยิ่งใหญ่ในลีกได้ เพราะบอลลูกกลมๆใบนี้ ไม่ว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้

แต่สิ่งที่แน่นอนคือ เมื่อจบฤดูกาลแล้ว ตารางคะแนนไม่อาจหลอกใครได้ ทีมที่เก็บแต้มได้น้อยสุดต้องร่วงลงไป ไม่ว่าก่อนหน้านี้พวกเขาจะเคยจบอันดับไหนมาก็ตาม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ