นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานเปิดการใช้งานนวัตกรรม PLUG ME EV ที่ MEA คิดค้นและต่อยอดพัฒนา เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของหัวชาร์จ (EV Charging Connector) ภายในสถานี สูงสุดถึง 32 หัวชาร์จ โดยเบื้องต้นได้ติดตั้งภายในอาคารจอดรถ ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานเพลินจิต รองรับการใช้งาน EV ภายในหน่วยงาน และจะพร้อมเปิดบริการให้กับประชาชนทั่วไปได้ในอนาคต ถือเป็นการยกระดับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของเมืองมหานคร
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ได้สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการใช้งาน EV ในพื้นที่ของ MEA ที่ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งมีแนวโน้มจำนวน EV เพิ่มขึ้นภายในปี 2580 มากกว่า 6.6 ล้านคัน โดยการเปิดตัวนวัตกรรม PLUG ME EV ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะสามารถต่อยอดรูปแบบการติดตั้งสถานีอัดประจุภายในอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม หรืออาคารอื่นๆ ที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ติดตั้งและระบบไฟฟ้า เนื่องจากการติดตั้งอุปกรณ์ PLUG ME EV ที่มีขนาดเล็กเพียง 1 เครื่อง สามารถเชื่อมต่อควบคุมหัวชาร์จ EV ในรูปแบบ AC ได้สูงสุด 32 หัวชาร์จ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดต้นทุนการจัดหาและติดตั้งเครื่องชาร์จ (EV Charger) พร้อมอุปกรณ์สื่อสารได้มากกว่าร้อยละ 40 จากต้นทุนเดิม พร้อมเชื่อมโยงใช้งานกับ MEA EV Application นอกจากนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับระบบบริหารจัดการพลังงานสำหรับสถานีอัดประจุ (MEA OSCP) ช่วยลดค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand) ในกรณีที่มีผู้ใช้งานพร้อมกันหลายหัวชาร์จ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ EV แต่ละคันยังคงได้รับพลังงานไฟฟ้าในปริมาณเท่าเดิมหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการชาร์จในแต่ละช่วงวัน
สำหรับ PLUG ME EV ที่ติดตั้งในพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานเพลินจิต ยังสามารถรองรับการให้บริการในแอปพลิเคชันข้ามเครือข่ายผู้ประกอบการสถานีอัดประจุ (EV Roaming) จากผู้ประกอบการในเครือข่ายที่เป็นพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการแบบข้ามเครือข่ายในสถานีนำร่องได้ภายในสิ้นปี 2566 และเปิดให้บริการในทุกสถานีของเครือข่ายของพันธมิตรภายในสิ้นปี 2567
ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินโครงการ PLUG ME EV ในระยะแรกแล้วเสร็จ โดยเปิดให้บริการอัดประจุผ่านอุปกรณ์ชาร์จที่มาพร้อมกับยานยนต์ไฟฟ้า (Portable EV Charger) จำนวน 12 ช่องจอด ในรูปแบบการชาร์จโหมด 2 ขนาดพิกัด 3.7 กิโลวัตต์ และมีแผนต่อยอดพัฒนาและขยายผลเป็นรูปแบบหัวชาร์จมาตรฐาน AC Type 2 Connector ขนาดพิกัด 7.4 – 44 กิโลวัตต์ เพิ่มเติมอีกจำนวน 18 ช่องจอด โดยการชาร์จทั้งหมดผู้ใช้บริการสามารถใช้งานผ่าน MEA EV Application ได้อย่างสะดวกสบาย
ในด้านการขับเคลื่อน EV Ecosystem เพื่อมุ่งส่งเสริมไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้โครงการ MEA EV ในปัจจุบันครอบคลุมการดำเนินงานในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนา MEA EV Application ที่มุ่งเน้นสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้ใช้งาน สามารถแสดงข้อมูลครอบคลุมผู้ให้บริการที่หลากหลาย มีฟังก์ชันในการค้นหาสถานีอัดประจุ และรองรับการชำระค่าบริการรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงยังมีแผนการขยายจำนวนสถานีอัดประจุให้บริการประชาชนในพื้นที่สำนักงาน MEA ตามพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงในพื้นที่สาธารณะอื่นๆที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งตั้งเป้าในปี 2570 จะเพิ่มจำนวนขึ้นไม่น้อยกว่า 600 หัวชาร์จ
นอกจากนี้ MEA ยังได้เตรียมการนำระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรีมาเชื่อมต่อกับสถานีอัดประจุของ MEA เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีการออกแบบพัฒนาระบบควบคุมการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าภายในบ้านอยู่อาศัย (Home EV Smart Charging) เพื่อตอบสนองต่อการบริหารจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และ MEA ยังมีความพร้อมในการให้บริการทดสอบอุปกรณ์ภายในสถานีอัดประจุ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานความเข้ากันได้กับยานยนต์ไฟฟ้า ความปลอดภัยในการใช้งาน และความเที่ยงตรงของการวัดหน่วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับ EV Charger สามารถติดต่อขอใช้บริการ KEN by MEA แบบครบวงจรโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ได้ที่ https://ken.mea.or.th อีเมล [email protected] สอบถามข้อมูลและขอใช้บริการผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
[Advertorial]