FootNote:อ่าน #20สิงหาประชาธิปไปต่อ ต่อสถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพแห่งการชุมนุม #10สิงหาประชาธิปไตยไปต่อ ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังถูกขยายผลในทางการเมือง
เป็นการขยายผลโดย “วิถีดำเนิน” และ “รูปธรรม” อันปรากฏ ณ เบื้องหน้าความเป็นไปของสังคมไทย
จุดที่ไม่ควรมองข้ามอย่างมีนัยสำคัญก็คือ คำประกาศของการชุมนุมมีความสัมพันธ์กับการชุมนุม ณ วัน ณ สถานที่เดียวกันนี้เมื่อปี 2563 ของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”
นี่คือการย้อนกลับไปสู่สภาพการณ์และบรรยากาศแห่งการชุมนุมในลักษณะ “แฟล็ชม็อบ” ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าในส่วนกลางหรือในส่วนภูมิภาคเมื่อต้นปี 2563
เป็นตัวอย่างของการชุมนุมโดย “เยาวชนปลดแอก” และทดสอบหยั่งเชิงโดย “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” กระทั่งกลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่และพัฒนาเป็น “คณะราษฎร”
แม้นับแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องมายังปี 2565 จะมีการใช้มาตรการในทาง “นิติสงคราม” กับผู้ชุมนุมมาตรา 112 และมาตรา 116 อย่างเข้มงวด จนมีผลให้กระแสการเคลื่อนไหวตกต่ำลง
กระนั้น การปรากฏขึ้นของ#10สิงหาประชาธิปไตยไปต่อ คือกระบวนการ “ทดสอบ” อย่างมีนัยสำคัญในทางการเมือง
ภาพจากการชุมนุมเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่าโดยกระบวนการบริหาร จัดการของ “สภานักศึกษา” ประสานกับ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้นำเอาจิตวิญญาณ “เดิม” หวนกลับคืนมา
ไม่ว่าจะมองผ่าน “ปริมาณ” ของผู้เข้าร่วม ไม่ว่าจะมองผ่าน “เนื้อหา” ในทางความคิดผ่าน#10สิงหาประชาธิปไตยไปต่อ
ความหมายของการ “ไปต่อ” นั้นแหละที่ไม่ควรมองข้าม
เนื่องจากแม้จะใช้ชื่อ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แต่ก็ด้วยองค์ประกอบอย่างใหม่ เป็นการขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ ที่กุมการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัย
องค์ประกอบในลักษณาการเดียวกันนี้มิได้ดำรงอยู่เพียงแต่ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น หากแต่เด่นชัดจากหลายแห่ง
ไม่ว่าเป็นมหาวิทยาลัย “ส่วนกลาง” หรือใน “ส่วนภูมิภาค”
ปมเงื่อนสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ คำว่า “ไปต่อ” อันเหมือนกับเป็นคำประกาศของการเคลื่อนไหวชุมนุม ดำเนินไปในลักษณะล้อกับคำประกาศเดียวกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นี่เท่ากับยังถือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “เป้าหมาย”
ความร้อนแรงนี้จะมิได้ดำรงเพียงในกรอบวันที่ 24 สิงหาคม หากแต่ยังต่อเนื่องไปถึง “การเลือกตั้ง” ในอนาคตอันใกล้
บทบาทของ “นิสิตนักศึกษา” จะต้องมี “ส่วนร่วม” แน่นอน