FootNote แรงต้านจากปัญญาชน ศิลปิน ไม่ต้องการให้ “ประยุทธ์” ไปต่อ
การขับเคลื่อนของ 99 ปัญญาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอและศิลปินเป้าหมายเพื่อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาตัวเอง ว่าสมควรอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่
มากด้วยความแหลมคมไม่เพียงเป็นการย้อนทวนไปยังสถานการณ์ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เท่านั้น
หากแต่หากสำรวจและศึกษาแต่ละรายชื่อของ 99 คนไม่ว่า จะเป็น นายปราโมทย์ นาครทรรพ ไม่ว่าจะเป็น นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็น นางสุนี ไชยรส
1 สัมผัสได้ในรูปแห่งการเคลื่อนไหวในยุคของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1 สัมผัสได้ในบทเรียนความจัดเจน จากการต้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2530-2531 นั่นเพราะว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2523 มายังเดือนสิงหาคม 2531 เป็น เวลา 8 ปี
ขณะเดียวกัน กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากนับจากเดือนสิงหาคม 2557 มายังเดือนสิงหาคม 2565 ก็เป็นเวลา 8 ปีเหมือนกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นี่ย่อมถือเอา 8 ปีหรือ 2 วาระมาเป็นหมุดหมายสำคัญ
ในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปัญญาชนนักวิชาการอาจดำเนินการในลักษณะของการทูลเกล้าฯถวายฎีกา แต่ก็มีเหตุผลอยู่บนพื้นฐานอันเป็นขนบที่เหมาะสมระบอบประชาธิปไตยอารยะ
นั่นก็คือ มีขนบทั้งที่กำหนดและที่เป็นประเพณีว่าไม่ควรดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี
ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับการขับเคลื่อนโดย 99 ปัญญาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอและศิลปิน ณ วันนี้ ยังยึดกุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาเป็นบรรทัดฐาน ความน่าสนใจยิ่งกว่านั้นอยู่ตรงที่ปัญญาชนอันเคยเคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีความเห็นในทางเดียวกันกับ “คณะราษฎร”
สะท้อนให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นปัญหาก่อให้เกิดคำถามแหลมคมทางการเมือง ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ 99 ปัญญาชน นักวิชาการ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ คณะราษฎรและรวมถึงขบวนการ “ไล่ลุง” ดำรงอยู่ในลักษณะท้าทายอย่างแหลมคมยิ่ง
เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการ “ไปต่อ” ไม่เพียงไปต่อจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่เพียงไปต่อจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หากยังจะไปต่อจากปี 2566 คำถามอยู่ที่ ประชาชนต้องการให้ “ไปต่อ” หรือไม่