FootNote บทบาท เป็นคุณ ประชาสังคม การมีส่วนร่วม ใน "การเลือกตั้ง"

Home » FootNote บทบาท เป็นคุณ ประชาสังคม การมีส่วนร่วม ใน "การเลือกตั้ง"



FootNote บทบาท เป็นคุณ ประชาสังคม การมีส่วนร่วม ใน “การเลือกตั้ง”
ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศจากเครือ “มติชน ข่าวสด” ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศจาก “ไทยพี่บีเอส” ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศจาก “ไทยรัฐ” ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศจาก “เครือเนชั่น”
สะท้อนภารธุระที่จะเข้าร่วมส่วนในการเลือกตั้ง ตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งผลของการเลือกตั้งปรากฏออกมา
ด้านหนึ่ง ยืนยันถึงความเป็นสื่อ ด้านหนึ่ง ยืนยันให้เห็นว่าในสายธารแห่งการเลือกตั้งตั้งแต่ต้นจนจบ จะให้เป็นงานในความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งหน่วยเดียวไม่ได้
เท่ากับเป็นสัญญาณเตือนให้ตระหนักถึงแก่นแกนแห่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยม นั่นก็คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีกัมมันตะจากทุกพลังของสังคม
อย่าได้แปลกใจหากจะสัมผัสได้ในบทบาทของ “ไอ-ลอว์” อย่าได้แปลกใจหากจะเห็นถึงความพยายามประสานและร่วมมือกันระหว่างองค์การสื่อเพื่อเข้าทำหน้าที่ด้วย
นี่ย่อมเป็นความตื่นในลักษณะ “ตื่นรู้” เป็นลำดับภายในสังคม สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างเป็นจังหวะก้าว เป็นระบบของความคิดประชาธิปไตย บทบาทในการเข้าร่วมสังเกตการณ์จึงทรงความหมาย
มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำงานอย่างปิดตัวเมื่อเทียบกับคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดอื่นจากการเลือกตั้งในอดีต
ไม่ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไม่ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่เมื่อถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ภาคประชาสังคมก็ไม่ยอมให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานอย่างโดดเดี่ยว ตรงกันข้าม มี หลายหน่วยงานอาสาเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน
ข้อดีโดยพื้นฐานก็คือ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณและเตือนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดตัวมากยิ่งขึ้นและจำเป็นต้องรายงานผลอย่างชนิดเรียลไทม์
นี่ย่อมเป็นรูปธรรมแห่งความตื่นตัวในทางสังคม นี่ย่อมเป็นปรากฏการณ์ใหม่สะท้อนถึงความคาดหวังต่อการเลือกตั้ง
สังคมตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่ารากฐานแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีความเป็นมาและมีเป้าประสงค์อะไร ขณะเดียวกัน ก็เข้าใจรากที่ มาของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นอย่างดี
การเข้าไปขอมี “ส่วนร่วม” จึงเป็นหนทางออกที่สร้างสรรค์ยิ่ง ทำให้กระบวนการการเลือกตั้งได้มีหลักประกันที่มั่นคงมากยิ่งกว่าปล่อยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทำเองอย่างโดดเดี่ยว ทั้งยังเป็นหลักประกันในความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
ยิ่งเป็น “ประชาธิปไตย” การเลือกตั้งก็ยิ่งมี “หลักประกัน”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ