FootNote:เดิมพันการเมืองประชาธิปัตย์ เดิมพันอยู่ที่จริยธรรมการเมือง
เบื้องหน้าสถานการณ์การยืนหยัดที่จะไม่ลาออก เพื่อนำไปสู่การปรับคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ ในท่ามกลางกระแสกดดันทางการเมืองจากภายนอกและภายใน
จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อคำประกาศของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อย่างเป็นพิเศษ
นั่นก็คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ยืนยันว่ามติของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ มีความเพียงพอและเหมาะสมอย่างยิ่งแล้วในทางการเมือง
เพราะไม่เพียงแต่ยืนยันให้กรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อยู่ในกระบวนการยุติธรรม หากพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ออกมาขออภัยและได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในทันที
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เคยประกาศว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ในความรับผิดชอบของเขาในฐานะเลขาธิการไม่ได้รับเลือกตั้งเท่าเดิมก็จะขอเลิกเล่นการเมืองไปเลย
ไม่ว่าท่าทีของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่ว่าท่าทีของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน วางเดิมพันอนาคตพรรคอยู่ในมือของประชาชน
ต้องยอมรับว่านับแต่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เข้าดำรงตำแหน่ง เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค ได้เผชิญกับปัญหาและแรงเสียดทานมากมาย
ทั้งเป็นปัญหาอันเนื่องแต่ความขัดแย้งภายในและปัญหาอัน เนื่องจากกรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์
ปมว่าด้วยความขัดแย้งภายในก็สะท้อนผ่านการลาออกของบุคคลสำคัญตั้งแต่ นายกรณ์ จาติกวณิช นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค กระทั่งล่าสุดคือ นายวิทยา แก้วภราดัย
ยิ่งผลจากกรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ซึ่งฟาสแทร็ก โดยการผลักดันของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ยิ่งทำให้ปัญหาขยาย
กลายเป็นปัญหาในทางจริยธรรมในสายตาของประชาชน
ปัญหาในทางจริยธรรมที่พรรคประชาธิปัตย์และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประสบอยู่ในขณะนี้มีความแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง หากประเมินจากสถานะแห่งความเป็น “สถาบัน” ทางการเมืองของพรรค
คำประกาศของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด
เพราะในที่สุดแล้วหากประชาชนประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยึดมั่นในจริยธรรม ดำรงอยู่อย่างไม่เหมาะกับสถานะแห่งสถาบัน
ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้าย่อมเป็น “คำตอบ” ดีที่สุด