FootNote:อำนาจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนผ่าน “บัญชีรายชื่อ”
ยิ่งเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” มากเพียงใด ความสนใจต่อ “ว่าที่” ผู้สมัครแต่ละคน แต่ละพรรคการเมือง ยิ่งได้รับความสนใจติดตามด้วยใจจดจ่อเป็นอย่างสูง
โดยพื้นฐานอาจอยู่ที่รายชื่อผู้สมัครในระบบเขต แต่ที่สร้างจุดระทึกใจกลับเป็นรายชื่อ “ระบบบัญชีรายชื่อ”โดยเฉพาะนักการเมืองระดับ “บิ๊กเนม” อันถือว่า “อาวุโส”
บทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 กล่าวในกรณีพรรคพลังประชารัฐ ชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มของ นายณัฏพล ทีปสุวรรณ กับกลุ่มของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
และเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มของ “สี่กุมาร” ที่นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับ กลุ่มของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งเรียกว่า “กลุ่มสามมิตร”
ไม่เพียงเป็นการต่อสู้เพื่อชิงอันดับที่แสดงความเหนือกว่า ว่าจะเป็นของฝ่ายใด หากแต่ยังขิงไปถึงการกำหนดแต่ละกลุ่ม แต่ละคนว่า จะยึดกระทรวงใด
การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งในปี 2566 ก็จะเป็นเช่นนี้
สายตาจึงมองพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ
พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แยกตัวออกไปจากสถานะแห่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทำให้ภายในพรรคพลังประชารัฐเกิดเอกภาพภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ภาวะเลือดที่ไหลออกจากพรรคพลังประชารัฐ จึงเท่ากับเป็นการคัดสรรและสร้างทางสะดวกให้โดยอัตโนมัติ
ปัญหากลับไปสุมอยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติมากยิ่งขึ้น
มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะจัดลำดับความสำคัญระหว่างกลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกัน มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะจัดลำดับความสำคัญระหว่างกลุ่มของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์
ลำดับของ ส.ส. “บัญชีรายชื่อ” คือคำตอบแห่ง “อำนาจ”
ในห้วงที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แห่งพรรคพลังประชารัฐเด่นชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่แทนอย่างเต็มเปี่ยม
ครั้งนี้ไม่แน่ชัดว่าคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางใจเป็นใคร
สายตาจึงทอดมองไปยังบทบาทของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี แต่ก็มิอาจมองข้ามบทบาทของ นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้ แม้จะลงในระบบเขตก็ตาม