FootNote:รูปธรรม ปัญหา จากPM 2.5 ผลสะเทือน จาก "โครงสร้าง"

Home » FootNote:รูปธรรม ปัญหา จากPM 2.5 ผลสะเทือน จาก "โครงสร้าง"


FootNote:รูปธรรม ปัญหา จากPM 2.5 ผลสะเทือน จาก "โครงสร้าง"

FootNote:รูปธรรม ปัญหา จากPM 2.5 ผลสะเทือน จาก “โครงสร้าง”

ผลสะเทือนอันเนื่องแต่ PM2.5 กำลังแผ่ออกอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง ไม่เพียงในทางกายภาพที่จำเป็นต้องปิด 89 อุทยานแห่งชาติ หากแต่ยังได้กลายเป็นคำถามอันแหลมคม

เมื่อได้เห็นความท้อแท้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อได้เห็นความหงุดหงิดของ นายวราวุธ ศิลปอาชา

เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อคนระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อคนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท้อแท้ หงุดหงิดเสียแล้ว

การออกมาเรียกร้องและโยนความรับผิดชอบให้กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร จึงเท่ากับเป็นการเรียกร้องอย่างเกินจริง

กล่าวสำหรับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพียงปัญหาหนี้สินเนื่องแต่บีทีเอสก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เมื่อเผชิญกับ PM2.5 จะทำอะไรได้อีกเล่านอกจาก “บ่น”

เนื่องจากทั้งหมดขึ้นอยู่กับ “โครงสร้าง” ในทาง “การเมือง”

ความเจ็บปวดจึงมิได้เป็นเรื่องที่ PM2.5 ส่งผลร้ายกับเด็กๆอย่างไร มิได้เป็นเรื่องที่แม้กระทั่งนกตะขาบดง เมื่อบินผ่านเหนือกรุงเทพ ก็ต้องร่วงหล่นราวกับใบไม้ร่วงเท่านั้น

หากแต่ค่า PM 2.5 เกิน 51/มคก.ติดต่อกัน 3 วัน ต่อ 15 เมืองในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและกทม.ก็ชนหัวลุกยิ่งแล้ว

กล่าวเฉพาะน่านอันดับ 1 เชียงใหม่ อันดับ 2 เชียงราย อันดับ 3 และจังหวัดอื่นๆ อาจครอบคลุมเพียงพื้นที่อำเภอเมือง หากแต่ต่อกทม.กลับครอบคลุมทั้ง 50 เขต

ความเป็นจริงเช่นนี้เองที่ทำให้ความรู้สึกผิดหวังต่อกระบวน การบริหารจัดการของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดังอย่างต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ต่อเดือนมีนาคม

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับออกมายอมรับว่า “ไม่รู้จะทำยังไง” ทั้งๆที่เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ผลสะเทือนจาก PM 2.5 จึงมิได้เป็นเรื่องของมลภาวะและสิ่งแวดล้อมอย่างโดดๆ ตรงกันข้าม นี่เป็นปัญหาอันกระทบทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างเด่นชัด

เป็นคำถามไปยังปัญหาในเชิง “โครงสร้าง” ของ “ประเทศ”

เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองต้องมี “คำตอบ” ไม่ว่าจะเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา

ยิ่งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ยิ่งจำเป็นต้องมี “ทางออก” อย่างเป็นรูปธรรมและทะลุทะลวงไปถึง “โครงสร้าง”

เนื่องจากหากไม่แตะ “โครงสร้าง” ก็มิอาจแก้ได้เด็ดขาด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ