FootNote:ทบทวนกรณีสามเหลี่ยมดินแดง กับแนวทางจัดการโดย "นครบาล"

Home » FootNote:ทบทวนกรณีสามเหลี่ยมดินแดง กับแนวทางจัดการโดย "นครบาล"



FootNote:ทบทวนกรณีสามเหลี่ยมดินแดง กับแนวทางจัดการโดย “นครบาล”

การหวนคืนฟื้นตัวแห่งการเคลื่อนไหวในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงกำลังกลายเป็นปัญหา ซึ่งทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับในทางสังคมและในทางการเมือง

ปมของปัญหามิใช่ “ปริมาณ” ตรงกันข้าม กลับเป็นกระบวนการและยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวมากกว่า

ปริศนาที่อำนาจไม่สามารถสรุปได้ก็คือ ใครเป็น “แกนนำ”

ทุกอย่างเริ่มต้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 นั่นก็คือเริ่ม ต้นเมื่อการชุมนุมหลักโดยเฉพาะในพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จบลงพร้อมกับคำประกาศยุติการชุมนุม

จากนั้นมวลชนส่วนหนึ่งก็เคลื่อนตัวไปยังบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และเปิดปฏิบัติการของตน เป้าหมายเหมือนจะเคลื่อนไปยังพื้นที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 และก็ถูกขัดขวางจากคฝ.

การขัดขวางจากคฝ.ในเครื่องแบบนั้นเองได้กลายเป็นภาพที่ เห็นอย่างเจนตาประสานกับการตอบโต้จากผู้ชุมนุม ซึ่งด้านหลักเป็นวัยรุ่นโดยที่ไม่มีใครประกาศตนเป็น “ผู้นำ” อย่างเด่นชัด

ภาพเมื่อปี 2564 เป็นเช่นนั้น แต่ภาพที่เห็นในเดือนมิถุนายน 2565 เริ่มเห็นคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นผู้อาวุโสเข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง

แต่ก็เสมอเป็นเพียง “พี่เลี้ยง” คอยช่วย “เด็ก” ด้านกำลังใจ

สถานการณ์เมื่อปี 2564 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ขยายวงการบริหารจัดการจากสามเหลี่ยมดินแดง เข้าไปยังตรอกซอยอันเป็นอาคารบ้านเรือนของชุมชนดินแดง

ผลที่เห็นจากเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ก็คือชาวบ้านได้ออกมาแสดงปฏิกิริยาต่อปฏิบัติการของตำรวจอย่างแข็งกร้าว

รูปธรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปฏิบัติการของตำรวจได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูงให้กับชาวบ้าน จึงแทนที่ชาวบ้านจะยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับตำรวจ กลับเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้าน

มองผ่านกระบวนการปฏิบัติการในทางจิตวิทยาต่อมวลชน จึงสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวเนื่องจากตำรวจไม่อาจกแยกปลา ออกจากน้ำได้อย่างเป็นจริง

กลายเป็นว่ากระบวนการปราบปรามของตำรวจกลับสร้างปัญหา ทำให้บานปลายและกลายเป็นปมทางการเมืองในที่สุด

หากมองจากปริมาณหากมองจากพื้นที่ของการเคลื่อนไหวถือได้ว่า การชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเป็นจุดเล็กมาก เมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครทั้งหมด

อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล

นี่จึงเป็นเรื่องที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลกับกรุงเทพมหานคร สมควรจะร่วมมือกันในการจัดการคลี่คลาย

เป้าหมายก็คือแปร “ปัญหา” ให้กลายเป็น “ความเข้าใจ”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ