FootNote:กลิ่นอายรัฐประหารโชยหนัก บทสรุปจาก ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’

Home » FootNote:กลิ่นอายรัฐประหารโชยหนัก บทสรุปจาก ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’



FootNote:กลิ่นอายรัฐประหารโชยหนัก บทสรุปจาก ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’

การตั้งข้อสังเกตถึง ‘กลิ่น’ ของ ‘รัฐประหาร’ ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ถูกปฏิเสธอย่างเฉียบขาด

ไม่ว่าจะจากมุม ‘ความมั่นคง’ ไม่ว่าจะจากมุม ‘การเมือง’

เห็นได้จากการเหน็บเบาๆจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ว่ากลิ่นของรัฐประหารยังไปไม่ถึงพรรคภูมิใจไทย เห็นได้จากการเสนอความจัดเจนจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา

“จากประสบการณ์ของผมทุกครั้งตั้งแต่เล็กจนโต เห็นการปฏิวัติมาแต่ละครั้งไม่เคยมีกลิ่นโชยสักครั้ง และทุกครั้งที่ได้กลิ่นก็มักจะไม่มี แต่ทุกครั้งที่มี มักจะไม่มีกลิ่น”

อย่างน้อยพรรคชาติไทยก็เคยถูกรัฐประหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 อย่างน้อยพรรคชาติไทยพัฒนา ก็เคยอยู่ในสถานการณ์การยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

กลิ่นรัฐประหารจึงไม่ถึงพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวใน ‘ด้านความมั่นคง’ ออกมายืนยันว่า ยังไม่มีเงื่อนไขใดที่จะเกิดการทำ ‘รัฐประหาร’

รัฐบาลยังสามารถ ‘บริหาร’ งาน ‘สภา’ ยังเดินหน้าได้

ถามว่าปัจจัยอะไรทำให้การตั้งข้อสังเกตต่อ ‘กลิ่นรัฐประหาร’ อันมาจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

คำตอบ 1 มาจากสถานะทางการเมืองของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว โดยตรง

ในเดือนมกราคม 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มิได้ดำรงอยู่ในจุดอันเป็น ‘ดาวสภา’ เหมือนในอดีต ตรงกันข้ามเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’

แม้ข้อสังเกตของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะถูกแย้งจาก ‘ฝ่ายความมั่นคง’ และจากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค

กระนั้น ข้อสังเกตนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนอันทรงความหมาย

ความหมายที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ มีจุดเริ่มมาจากความขัดแย้ง แตกแยก ซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในของรัฐบาล

ระหว่าง ‘นายกรัฐมนตรี’ กับ ‘พรรคพลังประชารัฐ’

มีตัวละครสำคัญอย่างน้อยก็ระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระดับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ระดับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และระดับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

หากไม่สามารถ ‘ตกลง’ โดยราบรื่น ‘รัฐประหาร’ ก็จะตามมา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ