"FILA x บียอร์น บอร์ก" : การปฏิวัติแฟชั่นโดยแบรนด์ไม่ดังจับมือนักเทนนิสนอกคอก

Home » "FILA x บียอร์น บอร์ก" : การปฏิวัติแฟชั่นโดยแบรนด์ไม่ดังจับมือนักเทนนิสนอกคอก



"FILA x บียอร์น บอร์ก" : การปฏิวัติแฟชั่นโดยแบรนด์ไม่ดังจับมือนักเทนนิสนอกคอก

FILA เป็นอีกหนึ่งแบรนด์สปอร์ตแฟชั่นที่มีอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะสายสปอร์ต, วินเทจ หรือสายเกาหลี สามารถจับเครื่องแต่งกายจากยี่ห้อนี้ มาแต่งตัวได้อย่างหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม FILA อาจไม่โด่งดังแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากช่วงกลางทศวรรษ 1970s แบรนด์จากประเทศอิตาลี ไม่เลือก บียอร์น บอร์ก ราชานักหวดลูกสักหลาดแห่งยุคชาวสวีเดนมาเป็นพรีเซนเตอร์

จากแบรนด์เสื้อผ้าที่คนทั่วโลกยังไม่ได้รู้จัก การเซ็นสัญญานักเทนนิสเพียงคนเดียว ช่วยสร้างให้ FILA กลายเป็นแบรนด์ที่คนรักแฟชั่นกีฬาต้องมีไอเท็มไว้ติดบ้านสักชิ้น

เด็กมหัศจรรย์ 

บียอร์น บอร์ก เป็นชาวสวีเดน เกิดที่กรุงสต็อกโฮล์ม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1956 ตั้งแต่วัยเยาว์เขาได้รับอิทธิพลความชอบด้านกีฬามาจาก บิดา ผู้เป็นนักกีฬาปิงปองอาชีพ 

มีเรื่องเล่าที่ดูตลกไม่น้อย นั่นคือ รูน บอร์ก คุณพ่อของบียอร์น เคยเอาชนะการแข่งขันปิงปองรายการหนึ่ง แต่กลับได้รับรางวัลเป็น “ไม้แร็คเก็ตเทนนิสสีทอง” เสียอย่างนั้น

1

แม้ของรางวัลจะไม่เป็นถูกอกถูกใจคุณพ่อ แต่มันดันโดนใจคุณลูก บียอร์น บอร์ก ชื่นชอบไม้เทนนิสสีทองอันนี้มาก สำหรับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เจ้าไม้อันนี้คือสัญลักษณ์ของความน่าตื่นตาตื่นใจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากเติบโตเป็นนักเทนนิส

เมื่อเห็นลูกมีความฝัน พ่อแม่ของ บียอร์น บอร์ก จึงสนับสนุนลูกชายคนนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องความเป็นมืออาชีพในฐานะของนักกีฬา ความมุ่งมั่นตั้งใจ อดทนกับการฝึกฝน จนทำให้บอร์กพัฒนาฝีมือของตัวเองอย่างรวดเร็ว

บอร์กเต็มที่กับการฝึกซ้อมอย่างมาก จนถึงขั้นที่ว่าเขาฝึกให้ตัวเองตีเทนนิสได้ด้วยมือทั้งสองข้าง ทรงประสิทธิภาพไม่ต่างกัน (บอร์ก ถนัดมือขวา) ด้วยวัยเพียง 13 ปี นักเทนนิสรุ่นเยาว์รายนี้ สามารถคว้าแชมป์เยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ของประเทศสวีเดนมาครองได้สำเร็จ

ความแข็งแกร่งของ บอร์ก ทำให้เขามีอาจารย์เป็น เลนนาร์ท เบอร์เยลิน นักเทนนิสชายเบอร์ 1 ของสวีเดน ในช่วงปลายยุค 60s ที่เข้ามาปลุกปั้นบอร์กจนได้ติดทีมชาติสวีเดน ลงแข่งขันรายการเดวิส คัพ (Davis Cup) ในปี 1972 ด้วยวัยเพียง 15 ปี

หลังจากเก็บประสบการณ์ในการแข่งขันระดับชาติ บอร์กเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยการคว้าแชมป์ วิมเบิลดัน โอเพน ระดับเยาวชน ในปีเดียวกัน ทำให้เมื่อเข้าสู่ปี 1973 บอร์กในวัย 16 ย่าง 17 ปี ได้รับอนุญาตลงแข่งขันในรายการอาชีพ โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ 18 ปี

2

ในปีแรกที่บอร์กเล่นอาชีพ เขาเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศรายการระดับ ATP Tour ได้ถึง 4 รายการ น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถคว้าถ้วยแชมป์มาครองได้แม้แต่สนามเดียว

ปีก่อนหน้าอาจจะไม่มีแชมป์ แต่ปีถัดไปเป็นคนละเรื่อง บอร์กคว้าแชมป์ ATP Tour ได้ตั้งแต่รายการแรกที่ลงแข่งขัน นั่นคือ นิวซีแลนด์ โอเพน (New Zealand Open) ก่อนจะกวาดเพิ่มอีก 6 ถ้วยแชมป์ รวมเป็น 7 รายการในระดับ ATP Tour ที่เขาคว้าแชมป์ในปีนั้น

เท่านั้นยังไม่พอ บอร์กสร้างชื่อถึงขีดสุด ด้วยการคว้าแชมป์แกรนด์สแลม เฟรนช์ โอเพน (French Open) ในปี 1974 มาครองด้วยวัยเพียง 18 ปี กับอีก 8 วัน กลายเป็นแชมป์ เฟรนช์ โอเพน ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ณ เวลานั้น (สถิตินี้ของบอร์กถูกทำลายในปี 1989 โดย ไมเคิล ชาง นักเทนนิสชาวสหรัฐอเมริกา)

โอกาสจากความแตกต่าง

ความยอดเยี่ยมบนคอร์ตเทนนิส ทำให้ชื่อของ บียอร์น บอร์ก โด่งดังไปทั่วโลก แต่ถึงจะฉายแววนักกีฬาขั้นเทพมาอย่างยาวนาน ใช่ว่า บอร์ก จะชนะใจแฟนทุกคน

ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่ชอบบอร์ก คือ ภาพลักษณ์ที่ขัดกับขนบดั้งเดิมของเทนนิส เพราะนี่คือกีฬาของผู้ดี เกมการแข่งขันของคนชั้นชั้นสูง นักเทนนิสจะต้องมีภาพลักษณ์ที่เรียบร้อย สง่า ดูดี มีระดับ

3

ทั้งหมดที่ว่ามา ไม่มีอยู่ในตัว บียอร์น บอร์ก นักเทนนิสรายนี้ไว้ผมยาว หนวดเครารุงรัง เหมือนกับร็อคสตาร์ เป็นคนตรงไปตรงมา ในสายตาของคนรักเทนนิสแนวอนุรักษ์นิยม บอร์ก เสมือนภาพแทนของนักกีฬาที่สกปรกมอซอ 

แม้ว่าความจริง เขาไม่ได้คนเป็นแบบนั้น แต่หากเทียบกับมาตรฐานความเนี้ยบของนักเทนนิสรุ่นเก่าๆ ต้องถือว่านักหวดชาวสวีดิช สอบตกจริงๆ 

ผู้มีอำนาจหลายคน พยายามเปลี่ยนแปลงลุคของบอร์ก ให้ดูดี มีชาติตระกูล แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำ ซ้ำยังไม่เห็นว่ามันจะเกี่ยวกับการเล่นเทนนิสตรงไหน?

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่สปอนเซอร์จะวิ่งเข้ามาสนับสนุนบอร์ก เพราะภาพลักษณ์ของนักเทนนิสรายนี้ ขัดกับสินค้าในวงการเทนนิส ที่ต้องการผู้ชายเรียบๆ มีความคลาสสิค ดูดี มีระดับ มายืนอยู่บนโปสเตอร์ มากกว่าหนุ่มมาดร็อคกระตุกจิตกระชากใจ อย่าง บียอร์น บอร์ก

แต่ความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครของ บอร์ก ดันไปเข้าตา “FILA” แบรนด์เสื้อผ้าจากประเทศอิตาลี ที่ก่อตั้งมานับแต่ปี 1911 ที่ต้องการสร้างจุดเปลี่ยนให้ตัวเอง เนื่องจากตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา FILA ยังไม่สามารถตีตลาดเสื้อผ้ากีฬาได้ เนื่องจากไม่มีจุดขายอะไรเลย

4

การปรากฏตัวขึ้นมาของยอดเทนนิสมาดเซอร์อย่าง บียอร์น บอร์ก ที่ไม่ยอมเดินขนบเดิมๆ ทำให้แบรนด์จากประเทศอิตาลีมั่นใจว่า บอร์กจะไม่ใช่แค่ดอกไม้ไฟที่โด่งดังแค่ช่วงสั้นๆแล้วหายไป แต่นักเทนนิสจากสวีเดนรายนี้ คืออนาคตของเกมลูกสักหลาด ที่จะเปลี่ยนภาพจำของเกมการแข่งขันนี้ไปตลอดกาล

ปี 1975 FILA ประกาศเซ็นสัญญา บียอร์น บอร์ก เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ แค่ก้าวแรกถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของ FILA เพราะเมื่อเห็น บียอร์น บอร์ก ลงแข่งที่ไหน ก็จะเห็นสินค้าของ FILA อยู่ที่นั่นด้วย ยิ่งถ้าเป็นแฟนกีฬาในช่วงเวลานั้น น้อยคนที่จะไม่รู้จักนักเทนนิสรายนี้

FILA – BORG ความอมตะของสปอร์ตแฟชั่น

FILA ไม่ได้เพียงเซ็นสัญญา บียอร์น บอร์ก มาเป็นเพียงโปสเตอร์บอย และไม่ทำอะไรอย่างอื่น แต่แบรนด์มีการวางแผนงานมาเป็นอย่างดี โดยใช้คาแรคเตอร์ความแตกต่างของนักหวดชาวสวีเดนในการตีตลาดแฟชั่นให้แตกกระจุย

5

วิธีที่ง่ายที่สุด คือการออกแบบเสื้อโปโลให้ บอร์ก ใส่ลงทำการแข่งขัน ซึ่งเสื้อที่ FILA ออกแบบ ไม่ใช่เสื้อโปโลเรียบๆ คลาสสิคที่นักเทนนิสนิยมใส่ เพราะมันขัดกับภาพลักษณ์ของบอร์กมาตลอด

FILA สร้างลวดลายใหม่ให้กับเสื้อแข่งของบอร์ก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อโปโลลายตาราง เสื้อโปโลที่มีแถบแนวตั้งอยู่บนเสื้อ และที่โด่งดังที่สุดคือการเขาใส่เสื้อแดงสุดร้อนแรง ลงทำการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เฟรนช์ โอเพน 1975 ผลปรากฏว่า บอร์กคว้าแชมป์ในปีนั้น

อิทธิพลความเก่งบนสนามแข่งของนักหวดรายนี้ ส่งผลตรงมายังยอดจำหน่ายสินค้าของ FILA ยิ่งบอร์กชนะมากเท่าไร สินค้าของ FILA ยิ่งขายดีมากเท่านั้น เพราะใครๆก็อยากสวมใส่เสื้อโปโลแบบเดียวกับที่นักเทนนิสรายนี้ใส่ แถมดีไซน์ยังถูกใจคนรุ่นใหม่ มีความเป็นแฟชั่นร่วมสมัย แต่งตัวได้ง่ายมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดแค่การใส่แนวคลาสสิคอีกต่อไป

ไม่ใช่แค่เสื้อโปโลของ FILA ที่กลายเป็นสินค้าขายดี แต่รวมถึงเสื้อแจ็คเก็ตด้วยเช่นกัน แบรนด์จากอิตาลีให้บอร์กสวมใส่แจ็คเก็ตสีสันฉูดฉาดยามอยู่นอกสนาม เข้ากับคาแรคเตอร์ที่มีเสน่ห์ของเขาอย่างมาก ทำให้แจ็คเก็ตที่นักหวดรายนี้สวมใส่ กลายเป็นไอเท็ม “ของมันต้องมี” สำหรับคนรักเทนนิสในยุค 70’s

ทุกวันนี้ เสื้อโปโลที่มีแถบแนวตั้ง หรือ BB1 Polo Shirt ของ FILA ยังคงเป็นไอเท็มอมตะที่เป็นที่ต้องการของนักแต่งตัวแนวสปอร์ตวินเทจในฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา

รวมถึงเสื้อแจ็ตเก็ต FILA Settanta Mk1 ล้วนเป็นที่ต้องการมากในตลาด เพราะไม่ใช่แค่ความสวยที่ชนะใจผู้คน แต่มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจาก บียอร์น บอร์ก ใส่เสื้อโปโล และเสื้อแจ็คเก็ตรุ่นดังกล่าว คว้าแชมป์มานับไม่ถ้วน

ความล้ำหน้าของ FILA กับนักเทนนิสรายนี้ ไม่ได้หยุดแค่ในยุค 70s ทันทีที่เข้าสู่ทศวรรษถัดไป แบรนด์ดังจากอิตาลีปล่อยแจ็คเก็ตรุ่นใหม่ Settanta Mk2 ซึ่งนิตยสาร The Business ถึงกับยกให้เป็นแจ็คเก็ตกีฬาที่สวยที่สุดตลอดกาล ทันทีที่เปิดตัว

7

“FILA BORG” คือชื่อที่ผู้คนเรียกถึงความยิ่งใหญ่ ระหว่างแบรนด์เสื้อผ้ากับนักเทนนิสรายนี้ ที่ร่วมกันยึดครองโลกแฟชั่นของกีฬาเทนนิสเป็นระยะเวลานับสิบปี ทั้ง FILA และ บียอร์น บอร์ก คือส่วนผสมที่เข้ากันอย่างลงตัว

หากไม่มี บียอร์น บอร์ก FILA คงไม่เป็นที่รู้จักแบบทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน หากไม่มี FILA บียอร์น บอร์ก คงถูกจดจำแค่เรื่องผลงานในสนาม ไม่ใช่นักกีฬาที่เป็นไอคอนด้านสปอร์ตแฟชั่นที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังคงต่อยอดจากความสำเร็จของการจับมือครั้งนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม หลังจากแยกทางกัน ในปี 1984 (ก่อนกลับมาจับมือกันอีกครั้งเมื่อปี 2018) FILA ต่อยอดชื่อเสียงของตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์สปอร์ตแฟชั่นอันเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะฝั่งโลกตะวันออก

8

ด้าน บียอร์น บอร์ก เขาไม่ได้เป็นแค่พรีเซนเตอร์ให้กับ FILA แต่ซึมซับความรู้ทางแฟชั่น จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อผ้าเสียเอง และตัดสินใจเปิดแบรนด์เครื่องแต่งกายของตัวเอง ในชื่อ Björn Borg โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1984 ร่วมกับบริษัท World Brand Management

ก่อนจะตั้งบริษัทเสื้อผ้าเป็นของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ภายใต้ชื่อแบรนด์เดิม (Björn Borg) ในปี 2006 และได้รับความนิยมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ