พลันที่กรณีของ “ลาซาด้า” อึกทึกครึกโครม ข่าวลือ “รัฐประหาร” ก็ปลิวว่อน
ที่เร้าความสนใจเป็นอย่างมากเป็นบทบาทของ “กองทัพบก” เมื่อตามมาด้วยบทบาทของ “กองทัพเรือ” และบทบาทของ“กองทัพอากาศ”
สำทับโดยแถลงของ “กองบัญชาการกองทัพไทย” คนซึ่งเคยผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 คนซึ่งเคยผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
คนซึ่งเคยผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ย่อมต้องตะแคงหูคอยฟังเสียงอย่างใจจดใจจ่อ
ต้องยอมรับว่าบทบาทในการรัฐประหารยุคหลัง 2475 เป็นบทบาทของ “ทหาร”
บทบาทของ “พลเรือน” อย่างเก่งก็เสมอเป็นเพียงใบเฟิร์นประดับอยู่ในแจกัน เพราะปัจจัยชี้ขาดในการรัฐประหารคือ ปากกระบอก“ปืน”
เมื่อลาก “รถถัง” พร้อมกับ “อาวุธ” ออกมาก็เรียบโร้ย
พลเรือนอย่าง นายแม่น ชลานุเคราะห์ อย่าง นายอาคม มกรานนท์ หรือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ก็เสมอเป็นเพียงเขียนและอ่าน “แถลงการณ์” เท่านั้น
สถานการณ์จึงได้ “เรียบโร้ย”โรงเรียนจปร.
การออกโรงของ 3 ผบ.เหล่าทัพในการจัดการกับ “ลาซาด้า”
จึงเท่ากับเป็น “สัญญาณ” จึงไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะขานรับและเห็นด้วย หากแม้กระทั่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็สนองทันที
เชื่อได้เลยว่า กระทรวงพาณิชย์ก็จะเปิดเกมรุก ต่อไป
ขณะเดียวกัน หากดูจากการออก “หมายเรียก” ต่อบรรดาเยาวชนพันธุ์ “ทะลุ” ทั้งหลายแล้วไม่ยอมให้ประกันตัวก็จะเห็นถึงการตัดตอนมิให้เคลื่อนไหว
รุนแรงกระทั่ง เค ร้อยล้าน ออกมาตบ“ป้าเป้า”
เบาะแสเหล่านี้เท่ากับเป็นร่องรอยและสัญญาณเตือนทาง “การทหาร ”ที่จะตามมา
บรรดาคนที่เคยผ่านรัฐประหารตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2534 กระทั่งรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง
เพราะกลิ่นแต่ละกลิ่นเริ่มรุนแรง แข็งกร้าว