โควิด-19: ผู้มีอาการ “ลองโควิด” อาจมีภาวะ “ปอดเสียหาย” ซุกซ่อนอยู่

Home » โควิด-19: ผู้มีอาการ “ลองโควิด” อาจมีภาวะ “ปอดเสียหาย” ซุกซ่อนอยู่


โควิด-19: ผู้มีอาการ “ลองโควิด” อาจมีภาวะ “ปอดเสียหาย” ซุกซ่อนอยู่

งานวิจัยนำร่องในสหราชอาณาจักรพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้มีอาการ “ลองโควิด” (long Covid) อาจมีภาวะ “ปอดเสียหาย” ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมผู้ป่วยบางคนจึงยังมีอาการหายใจลำบาก แม้ร่างกายจะปลอดจากเชื้อโรคโควิดไปนานแล้ว

Picture of a xenon gas MRI

ที่มาของภาพ, Oxford University

ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้เทคนิคการสแกนวิธีใหม่โดยใช้ก๊าซซีนอน เพื่อตรวจหาความผิดปกติในปอดที่เป็นผลจากการติดโควิด ซึ่งมีขนาดเล็กมาก จนไม่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจตามปกติ

อาการหายใจลำบาก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้มีภาวะลองโควิด แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากมีความซับซ้อนและมีหลายสาเหตุ

ดร.เอมิลี เฟรเซอร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ผลการค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานแรกที่ตอกย้ำว่า อาการหายใจลำบากในกลุ่มผู้มีภาวะลองโควิด อาจเกิดจากความเสียหายของปอด ซึ่งมักตรวจไม่พบจากการเอกซเรย์ หรือการทำซีที สแกน

“มันบ่งชี้ว่าเชื้อโรคโควิดก่อให้เกิดความผิดปกติเรื้อรังในโครงสร้างจุลภาคของปอด หรือในระบบหลอดเลือดปอด”

อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่าจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันว่าความผิดปกติที่ตรวจพบเกี่ยวข้องกับอาการหายใจลำบากในผู้มีอาการลองโควิด

Woman with fatigue

ที่มาของภาพ, Getty Images

งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาคนไข้ 36 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ติดโควิดที่มีอาการไม่หนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ภายหลังมีอาการลองโควิดและหายใจลำบาก 11 คน, ผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ไม่มีอาการลองโควิด 12 คน และคนสุขภาพดี 13 คน

ทีมนักวิจัยให้คนทั้ง 3 กลุ่มสูดหายใจเอาก๊าซซีนอนเข้าไปในระหว่างการตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging หรือ MRI)

ก๊าซซีนอนจะมีปฏิกิริยาเหมือนก๊าซออกซิเจน แต่สามารถตรวจจับเป็นภาพได้ในระหว่างการตรวจ MRI ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นการเคลื่อนที่ของมันจากปอดไปสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย

ทีมนักวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีอาการลองโควิดจะมีการส่งผ่านก๊าซได้มีประสิทธิภาพน้อยกว่ากลุ่มผู้ร่วมการทดลองที่มีสุขภาพดี

ส่วนกลุ่มที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโควิดก็มีความผิดปกติแบบเดียวกับผู้มีอาการลองโควิด

ดร. แคลร์ สตีฟส์ ผู้บรรยายอาวุโสที่คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งไม่ได้อยู่ในทีมวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า ผลการศึกษานี้น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่ต้องทนทุกข์กับอาการหายใจลำบาก แม้จะหายป่วยจากโควิดไปนานแล้ว

“ผลการศึกษาที่ได้บ่งชี้ว่า ประสิทธิภาพการทำงานของปอดในการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับก๊าซออกซิเจนอาจได้รับความเสียหาย แม้โครงสร้างของปอดจะดูเหมือนปกติก็ตาม” เธอกล่าว

ทีมนักวิจัยหวังว่า การศึกษาเพิ่มเติมเรื่องนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงกลไกที่ก่อให้เกิดอาการหายใจลำบากในหมู่ผู้มีอาการลองโควิด ซึ่งจะช่วยให้หาทางพัฒนาการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

……………………………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ