รอยเตอร์ รายงานว่านายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่าทางการสหรัฐพิจารณายกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อเผด็จการทหารพม่า หลังพบว่าทหารพม่าปราบปรามผู้ต่อต้านรุนแรงขึ้น ขณะที่ชาวเมียนมาพากันประท้วงด้วยการไม่ออกไปทำกิจวัตรประจำวัน ทำให้เมืองต่างๆ ตกอยู่ในสภาพเหมือนเมืองร้าง
สำหรับการมาเยือนอาเซียนของรัฐมนตรีบลิงเคนที่ปิดทริปเร็วกว่าที่วางไว้ เนื่องจากคนในคณะติดโควิดนั้น นายบลิงเคนเผยท่าทีล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐที่จะลงโทษคณะรัฐประหารเมียนมาเพิ่มเติม พร้อมเผยว่าสหรัฐยังจะเชิญผู้นำชาติอาเซียนได้รับเชิญให้ร่วมหารือเรื่องนี้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ในการประชุมนัดพิเศษวันที่ 19 ม.ค. 2565 นี้
“ผมคิดว่าจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดในช่วงสัปดาห์หรือเดือนต่อไปข้างหน้านี้ที่ต้องดูขั้นตอนหรือมาตรการที่เราจะทำเพิ่มเติมแบบเจาะจงรายตัว แบบคัดเลือก เพื่อกดดันคณะปกครองนี้ให้นำประเทศหวนกลับมาบนเส้นทางประชาธิปไตย นี่เป็นเรื่องที่สหรัฐมองอยู่” นายบลิงเคนกล่าว
นายบลิงเคนเอ่ยเรื่องนี้ระหว่างเยือนภูมิภาคอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 15 ธ.ค. ต่อเนื่องจากอินโดนีเซีย ก่อนตัดสินใจยกเลิกมาไทย เพราะมีคนร่วมคณะติดโควิด-19
แม้อาเซียนจะผลักดันให้ผู้นำทหารพม่าเห็นชอบในฉันทามติ 5 ข้อที่เป็นโรดแม็ปสันติภาพ แต่เกิดข้อสงสัยร้ายแรงว่าบรรดาผู้นำทหารพม่าจะทำตามคำมั่นสัญญาได้หรือไม่ เพราะดูแล้วสถานการณ์ในเมียนมาไม่ดูดีขึ้นเลย ขณะที่มาเลเซียเป็นชาติสมาชิกอาเซียนที่กล้าวิจารณ์การรัฐประหารอย่างดุดัน
นายบลิงเคนยังระบุถึงประเด็นชนกลุ่มน้อยโรฮิงยาว่า สหรัฐยังคงจับตาเรื่องนี้อยู่ เพราะถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกแบ่งแยกและถูกกองทัพปราบปรามจนหนีออกจากประเทศไปหลายแสนคน
ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐมีต่อเนื่องจากที่สหประชาชาติแถลงแสดงความวิตกกังวลถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในเมียนมาที่คณะรัฐประหารพยายามปราบปรามผู้ประท้วง ล่าสุดมีการสังหารชาวบ้าน 11 ราย รวมถึงเด็กๆ ในเขตสะไกง์ (สะกาย) ทางภาคเหนือ โดยนายบลิงเคนกล่าวว่าสะเทือนใจอย่างยิ่งที่ได้รับรายงานว่าทหารจับมัดชาวบ้านและเผาทั้งเป็น
วันเดียวกัน บรรดาชาวพม่าที่ลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการทหารเรียกร้องให้ประชาชนประท้วงด้วยการเลิกใช้แก๊สหุงต้ม หลังพบว่ารัฐวิสาหกิจของชาติที่ร่วมกับบริษัท โททอล เอเนอร์จี สัญชาติฝรั่งเศส ผู้รับสัมปทานบ่อแก๊สพม่านั้นเป็นหนึ่งในรายได้หลักของผู้ก่อรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. ท่ามกลางการปฏิเสธของทางการสหรัฐและฝรั่งเศส รวมถึงท่าทีต่อต้านจากไทย
…………….
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รมว.สหรัฐฯ ยกเลิกเยือนไทย เหตุกังวลโควิด-19 บินกลับประเทศทันทีหลังไปมาเลย์