ปวดคอ คอเคล็ด เป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถพบได้บ่อยๆ และเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับวัยทำงานที่ต้องมีการก้มๆ เงยๆ อยู่ตลอดทั้งวัน อาการคอเคล็ดอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่เหมือนเช่นเคย หากคุณผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาคอเคล็ดอยู่บ่อยๆ ล่ะก็ Hello คุณหมอ มีเคล็ดลับดีๆ ในการบรรเทา อาการคอเคล็ด มาฝาก
คอเคล็ด เกิดจากอะไร
อาการคอเคล็ด เกิดจากการใช้งานคอมากเกินไป ซึ่งมีผลให้กล้ามเนื้อคอยืดเกินไป หรือตึงเกินไป จนส่งผลให้เกิดอาการปวด ตั้งแต่ปวดเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงปวดอย่างรุนแรง จนขยับศีรษะได้ลำบาก หรือไม่สามารถขยับศีรษะได้ อย่างไรก็ตาม อาการคอเคล็ดก็อาจเกิดได้จากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
- การบาดเจ็บรุนแรงที่บริเวณคอ เช่น ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์
- การบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น นอนผิดท่า นอนตกหมอน การก้มหรือจ้องมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ
- อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา
- โรคข้ออักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ความเครียด
มีวิธีแก้ คอเคล็ด ได้อย่างไรบ้าง
หากมี อาการคอเคล็ด สามารถรับมือได้ง่ายๆ ดังนี้
- ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ
– หากมีอาการปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ หรือเริ่มมี อาการคอเคล็ด ให้ค่อยๆ ทำการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ดังนี้
– หมุนไหล่ไปข้างหลังแบบขึ้นและลง 10 ครั้ง
– บีบสะบักเข้าหากัน 10 ครั้ง
– แนบหูไปที่หัวไหล่สลับไปมา 10 ครั้ง
– กรณีที่นั่งรถ หรือนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงศีรษะ สามารถเอนศีรษะไปที่พนักพิงศีรษะของเบาะรถหรือเบาะเก้าอี้ แล้วค้างไว้ 30 วินาที
- ประคบร้อน-ประคบเย็น ในบริเวณที่ คอเคล็ด
หากมี อาการคอเคล็ด สามารถนำผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง แล้วนำไป ประคบที่บริเวณคอที่มีอาการเคล็ดขัดยอก หากเป็นไปได้ควรทำการประคบตั้งแต่ 24-48 ชั่วโมงแรกที่มีอาการ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนและบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออักเสบและบรรเทาอาการปวด
- อาบน้ำอุ่น
การ อาบน้ำอุ่น หรือการแช่ตัวในน้ำอุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการคอเคล็ดได้ เนื่องจากน้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงมากจนเกินไป จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดคอ หรือคอเคล็ดได้
- ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในการนอน
บางครั้ง อาการคอเคล็ด ก็อาจเกิดจาก ปัญหาในการนอนหลับ หมอนที่ใช้นอนอาจแข็งจนเกินไป หรือมีขนาดที่ไม่รองรับกับศีรษะ ทำให้เวลานอนแล้วรู้สึกไม่สบายคอ ไม่สบายศีรษะ เสี่ยงที่จะทำให้กล้ามเนื้อตึง จนเกิดอาการปวด ควรเลือกหมอนที่ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป และเลือกหมอนที่มีขนาดกว้างพอที่จะรองรับศีรษะ และควรกว้างพอที่จะรับกับการปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอนสำหรับผู้ที่นอนตะแคงด้วย เพื่อป้องกันอาการคอเคล็ด
- รับประทานยาแก้ปวด
อาการคอเคล็ด สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่สามารถสั่งซื้อได้เอง โดยไม่ต้องใช้คำสั่งยาจากแพทย์ เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด อย่างไรก็ตาม การปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรก่อนซื้อยาถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อจะได้ซื้อยารักษาโรคได้ตรงตามอาการ
- ปรับท่าทางในการนั่ง
ในกรณีที่ต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ ควรปรับความสูงของหน้าจอให้พอดีกับระดับสายตา เพื่อลดการเงยคอไว้สูงหรือก้มต่ำจนเกิดไป การปรับท่านั่งให้พอดีกับโต๊ะและจอคอมพิวเตอร์ มีส่วนช่วยป้องกันอาการปวดหรือเมื่อยคอจากการก้มหรือเงยคอนานเกินไป
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
อาการคอเคล็ด แม้จะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่อันตรายรุนแรง และสามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นตามลำดับได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ
- มีอาการคอเคล็ดร่วมกับอาการต่างๆ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ
- อาการคอเคล็ดไม่ทุเลาลงภายในสองหรือสามวัน แม้จะมีการบรรเทาอาการคอเคล็ดแล้วก็ตาม
- มีอาการปวดที่คออย่างรุนแรง