เป็นเวลานานกว่า 1 เดือนแล้ว หลังจากอังกฤษเปิดให้คนดูกลับเข้ามาชมกีฬาแบบเต็มความจุของสนามได้อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่การแข่งขัน F1 ที่สนามซิลเวอร์สโตน มาจนถึงฟุตบอลลีกภายในประเทศ
แม้การระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงไม่เลือนรางไป แต่จากการเร่งฉีดวัคซีน (ที่มีคุณภาพ) ให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้รัฐบาลอังกฤษสามารถปลดมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งอนุญาตให้มีการรวมตัวเข้าชมเกมการแข่งกีฬากลางแจ้ง โดยไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากกันได้แล้ว
แน่นอนว่าบรรยากาศในสนามฟุตบอลเริ่มกลับมาเป็นปกติ ทั้งอัฒจันทร์ที่ไม่ว่างเปล่า และเสียงเชียร์ที่คุ้นหูก็กลับมาดังกระหึ่มอีกครั้ง แต่ในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงชั้นดี ที่พร้อมส่งให้อังกฤษเข้าสู่วิกฤตการณ์ระบาดระลอกใหม่ได้ไม่ใช่หรือ?
ภูมิคุ้มกันหมู่?
แนวคิดภูมิคุ้มกันหมู่ คือการที่ประชากรจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ COVID-19 ผ่านทั้งการติดเชื้อ หรือวัคซีน จนไม่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวภายในกลุ่มคนนั้น ๆ ได้อีก
อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ที่สามารถติดและแพร่ได้อย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง ก็ทำให้แนวคิดดังกล่าวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทางรัฐบาลอังกฤษจึงได้เปลี่ยนแนวคิด จากที่จะต้องกำจัด COVID-19 ให้หายไปจากประเทศของตน เป็นการให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อไวรัสดังกล่าวให้ได้โดยไม่ป่วยหนัก เสียชีวิต หรือรบกวนกิจวัตรประจำวันเสียจนทำอะไรไม่ได้เลย
ข้อมูลจาก NHS ณ วันที่ 22 กันยายน ปี 2021 ระบุว่ามีประชากรอย่างน้อย 48,600,000 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม นับเป็น 89.6% ของชาวอังกฤษที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป และคนที่ได้รับครบ 2 เข็มแล้วมีมากกว่า 44,600,000 คน หรือเท่ากับ 82.1% ของประชากรที่มีอายุในเกณฑ์รับวัคซีนได้แล้วนั่นเอง
ด้านยอดผู้ติดเชื้อล่าสุด ยังอยู่ที่วันละ 36,710 ราย จากการตรวจมากกว่า 969,173 ครั้ง นับเป็นอัตราการตรวจพบเชื้ออยู่ที่ 3.79% และค่าเฉลี่ยการติดเชื้อในเกาะอังกฤษนั้น อยู่ที่ 302 คนใน 100,000 คน โดยจากจำนวนดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในวันที่ 22 กันยายนอยู่ 182 คน นับเป็น 1.3 คนในประชากร 100,000 คน
อาจฟังดูเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่จากจำนวนดังกล่าว มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มเพียงวันละ 714 คน โดยมีเทรนด์จำนวนผู้นอนโรงพยาบาลลดลงถึง 15.5% ในรอบ 1 สัปดาห์ล่าสุด
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของแฟนบอลเรือนแสน ที่แออัดกันเข้าไปในสนามฟุตบอลแบบไม่ใส่หน้ากากชมการแข่งขันแล้ว ตัวเลขดังกล่าวถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอควรเลย แต่เพราะเหตุใดกัน ที่ทำให้อังกฤษยังรอดพ้นจากการระบาดระลอกใหม่ไปได้?
ของดีที่ควรมีใช้
เมื่อพิจารณาชนิดของวัคซีนที่มีการอนุมัติให้ใช้งานในอังกฤษ ได้แก่ของบริษัท ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า, และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แล้ว ก็อาจพอเห็นภาพแบบคร่าว ๆ ถึงความแตกต่างของการเลือกซื้อและจัดสรรวัคซีนที่ดีให้กับประชาชนของตนได้บ้าง
Public Health England ได้รวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนต่าง ๆ นับตั้งแต่ที่อังกฤษได้เริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่าตอนนี้ประชากรในวัยผู้ใหญ่มากกว่า 97.7% ต่างมีภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 แล้ว ซึ่งเกิดจากการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้กับกลุ่มเสี่ยงและผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มไปแล้วมากกว่า 90% ของจำนวนประชากร
ด้านการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีน พบว่ามีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้สูงถึง 79% และป้องกันการป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 96% พร้อมกับพบว่าการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมเช่นนี้ ช่วยลดการเสียชีวิตไปได้มากกว่า 110,000 เคสด้วยกัน
กรณีศึกษาของอังกฤษ ถือเป็นก้าวเดินที่ค่อนข้างเสี่ยงพอสมควร เพราะการให้คนมารวมตัวกันนั้น ดูไม่ค่อยเป็นไอเดียที่ดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะตอนที่ไวรัสดังกล่าวยังคงมีอยู่ในโลกนี้ และยังเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติอยู่เหมือนเคย
แต่เพราะรัฐบาลอังกฤษยึดมั่นใน Design Principles ของตน ที่จะพยายามก้าวก่ายการตัดสินใจของประชาชนให้น้อยที่สุด โดยจะปฏิบัติแค่สิ่งที่ตนพึงกระทำ และปรับเปลี่ยนเรื่องยากให้ง่ายกับประชาชน เพื่อผลักดันให้ทุกสิ่งทุกอย่างยังสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยมอบอำนาจการตัดสินใจรับความเสี่ยงเด็ดขาดให้กับประชาชนของตนได้เลือกได้ตัดสินใจเอง
เพราะไม่ว่าคุณจะพยายามหยุดหรือยื้อทุกอย่างให้ชะงักสักเพียงไหน โลกทั้งใบก็ยังคงหมุนต่อไป เช่นเดียวกับเข็มนาฬิกาที่นำการเปลี่ยนแปลงเข้ามาอยู่ในทุกเสี้ยววินาที โดยไม่แคร์ว่ามนุษย์ตัวเล็ก ๆ อย่างเรานี้ จะคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม