ไขข้อข้องใจกฎการเงิน : ทำไม เปแอสเช รอดสบาย แต่ บาร์ซ่า โดนเต็ม ๆ

Home » ไขข้อข้องใจกฎการเงิน : ทำไม เปแอสเช รอดสบาย แต่ บาร์ซ่า โดนเต็ม ๆ
ไขข้อข้องใจกฎการเงิน : ทำไม เปแอสเช รอดสบาย แต่ บาร์ซ่า โดนเต็ม ๆ

“เราเชื่อมั่นและเคารพ FFP เสมอ ถ้าคุณพิจารณาดี ๆ เราเซ็นสัญญา 4 ผู้เล่นที่ดีที่สุดในตลาดรอบนี้แบบฟรี ๆ ทั้งสิ้น” นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี่ ประธานสโมสร ปารีส แซงต์ แชร์กแมง กล่าวหลังเปแอสเชสร้างประวัติศาสตร์ คว้า ลิโอเนล เมสซี่ เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 6 สมัยมาร่วมทีม

การคว้า เมสซี่ คือดีลที่ทำให้ใครหลายคนเกิดความสงสัยในกฎ FFP หรือ ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ตั้งขึ้นมา เพื่อไม่ต้องการให้สโมสรในยุโรปใช้เงินกับการซื้อและจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะมากกว่ารายได้ของสโมสร ว่าแท้จริงแล้วจริงจังแค่ไหน หรือมีไว้เพื่อเขียนเสือให้วัวกลัวเฉย ๆ 

ถ้ากฎนี้ยังมีและศักดิ์สิทธิ์อยู่ เหตุใด เปแอสเช จึงเสริมทัพแบบไม่สนรายรับรายจ่ายเหมือนกับพวกเขากำลังเล่นเกมอยู่ได้ขนาดนี้ ? ทั้ง ๆ ที่น่าจะผิด แต่ทำไมพวกเขาจึงไม่โดนลงโทษอะไร ?

 

แท้จริงแล้ว เปแอสเช ผิดกฎ FFP จริงหรือไม่ ? ถ้าใช่ … ทำไมพวกเขากลับไม่สะทกสะท้านอะไรเลย ? ติดตามได้ที่ Main Stand

FFP มีจริง แต่เคยทำอะไรได้ไหม ? 

FFP คือกฎการเงินที่ ยูฟ่า เริ่มบังคับใช้ในปี 2009 เป้าหมายของกฎนี้คือต้องการทำให้ทุก ๆ สโมสรไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพื่อที่จะไม่เป็นปัญหาในภายหลัง เช่นปัญหาการฟ้องร้องของนักเตะ หรือแม้กระทั่งการล้มละลายของสโมสร ที่หากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว มันจะกลายเป็นโดมิโน่เอฟเฟ็กต์ที่ส่งผลต่อกัน

อธิบายอย่างเข้าใจง่าย ๆ คือทุกสโมสรจะต้องใช้จ่ายเงินในการซื้อและจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะต่อ 1 ปี ให้ไม่เกินกับรายได้ที่สโมสรหาเข้ามา เพราะการปล่อยให้สโมสร 1 สโมสรล้มละลายจะส่งผลตามมา สมมติทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ หรือ ลิเวอร์พูล เกิดล้มละลายขึ้นมา ลีกอังกฤษก็จะลดความเข้มข้นและความน่าสนใจลงไป เท่านั้นยังไม่พอ ความเข้มข้นของการแข่งขันก็จะน้อยลง คุณภาพของเกมต่ำลง ทำให้คนดูบางกลุ่มหายไป ซึ่งที่สุดแล้วจะส่งผลกับรายได้รวมของทุก ๆ ทีมในลีก อะไรประมาณนั้น

 

หาเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น … ต่อให้เจ้าของสโมสรจะมีเงินมากขนาดไหน ก็ไม่สามารถอัดฉีดเงินส่วนตัวเข้ามาในระบบของสโมสรได้ คือแนวคิดของ ยูฟ่า ทว่าในความเป็นจริงมันก็ยังมีเรื่องวุ่นวายตามมาอยู่ดี และไม่สามารถสรุปได้เลยว่ากฎ FFP นั้นเวิร์กจริง ๆ 

ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2011 ที่ เชลซี แถลงผลประกอบการของสโมสร และบอกว่าพวกเขาขาดทุน 70 ล้านปอนด์ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทีมสิงห์บลูส์กลับเปิดตัว เฟร์นานโด ตอร์เรส จาก ลิเวอร์พูล ด้วยราคา 50 ล้านปอนด์ … ถ้าว่ากันตามกฎคือผิดแน่นอน แต่สุดท้ายเมื่อมีการเจรจาและอธิบาย รายรับ-รายจ่าย จาก เชลซี ยูฟ่า ก็ทำได้แค่ตักเตือนว่า “ครั้งหน้าอย่าทำ” แค่นั้น 

และในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็โดนแฮ็กเกอร์มือดีเอาข้อมูลเรื่องการใช้เงินของพวกเขามาเปิดโปง เรื่องก็คือ แมนฯ ซิตี้ ถูกจับได้ว่าเจ้าของสโมสรของพวกเขาใช้เงินตัวเองอัดฉีดเข้าไปในระบบ เงินก้อนนั้นเข้ามาในรูปแบบของสปอนเซอร์สัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บ้านเดียวกับเจ้าของทีม แถมยังแจ้งมูลค่าของรายได้สปอนเซอร์เจ้าดังกล่าวเกินจริง โดยระบุว่า สปอนเซอร์จ่ายส่วนหนึ่ง ที่เหลือเจ้าของทีมรับผิดชอบเอง พูดง่าย ๆ ก็คือพวกเขาย้ายเงินของตัวเองจากกระเป๋าซ้าย ไปไว้กระเป๋าขวา ซึ่งนั่นถือเป็นการจงใจทำผิดกฎอย่างชัดเจน 

สิ่งที่ ยูฟ่า ทำกับ แมนฯ ซิตี้ ในตอนแรกคือการจะสั่งแบนไม่ให้เข้าแข่งขันในฟุตบอลยุโรป 2 ปี และปรับเงิน 30 ล้านยูโร ทว่าสุดท้ายพวกเขารอดโทษแบน และต้องจ่ายค่าปรับเพียง 10 ล้านยูโรเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักฐานที่นำมาเปิดเผยได้มาอย่างไม่ถูกต้อง

 

ไม่ใช่แค่ครั้งหรือสองครั้งที่กฎ FFP ไม่ได้ทำโทษสโมสรซึ่งทำผิดกฎตามที่พวกเขากล่าวอ้าง ในช่วงปี 2011 ถึง 2013 แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, ลิเวอร์พูล, เอซี มิลาน, มาลาก้า, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทีมเหล่านี้โดนสอบสวนมาแล้วทั้งนั้น แต่สุดท้ายยูฟ่าก็ทำได้แค่เพียงสั่งปรับ หนักสุดคือตัดโควต้าส่งชื่อนักเตะในการแข่งขันรายการฟุตบอลยุโรป โดยอ้างว่าต้องให้เวลาสโมสรเหล่านี้ ปรับพฤติกรรมการใช้เงินของสโมสร จะมีบทลงโทษแบบจั๋ง ๆ ก็ตอนแบน เอซี มิลาน จากการเล่นฟุตบอล ยูโรปา ลีก ฤดูกาล 2019-20 เท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้คุณน่าจะเห็นภาพแล้วว่า FFP เอาผิดใครจริงจังแทบไม่เคยได้เลยสักครั้งตามคำขู่และกฎที่ร่างไว้ คราวนี้เราลองย้อนกลับมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นไปสด ๆ ร้อน ๆ ในซัมเมอร์ปี 2021 ว่าด้วยเรื่องที่ บาร์เซโลน่า ต้องปล่อย ลิโอเนล เมสซี่ ออกจากทีม เพราะพวกเขามีรายจ่ายเกินรายรับตามกฎ FFP ที่ ลา ลีกา กำหนด 

ทว่า เปแอสเช ที่ใช้เงินจ่ายค่าเหนื่อยกับนักเตะระดับสตาร์ทั้งเก่าและใหม่ล้นทีม กลับสามารถเซ็นสัญญา เมสซี่ พร้อมค่าเหนื่อยอีกปีละ 30 ล้านยูโร มากยิ่งกว่า เนย์มาร์ รวมกับ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 2 สตาร์ของทีม … ทำไม เปแอสเช ถึงทำแบบนี้ได้ล่ะ ?

ทางรอดของ เปแอสเช 

“เปแอสเช ไม่ได้ทำผิดกฎ FFP จริง ๆ” เริ่มต้นกันแบบนี้เลย … หลายคนอาจจะสงสัยว่าพวกเขาไม่ผิดกฎการเงินได้อย่างไร ทั้งๆ ที่นักเตะแต่ละคนรับค่าเหนื่อยระดับทะลุเพดานกันเกือบครึ่งค่อนทีม ? 

เรื่องดังกล่าว ยูฟ่า เพิ่งมาเริ่มยกเลิกการใช้กฎ FFP ชั่วคราว หลังจากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด -19 เล่นงานโลกฟุตบอล หลายสโมสรขาดรายได้ไปเยอะมาก เหลือเพียงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเท่านั้นที่พอจะจับต้องได้ หากยังอิงตามกฎ FFP อยู่ คงไม่มีทีมไหนสามารถจ่ายเงินซื้อนักเตะใหม่ได้เลย เพราะทุกทีมขาดทุนกันหมด ดังนั่นการปลดล็อกชั่วคราวจึงถูกบังคับใช้ขึ้น 

ในขณะที่คนอื่นกลัวการใช้เงินในยุคโควิด แต่ เปแอสเช ไม่จำเป็นต้องกลัว เมื่อไม่มี FFP คอยค้ำคอ พวกเขาก็สามารถลุยและฉวยโอกาสทำทีมให้แข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่ทีมอื่นกำลังพยายามรัดเข็มขัดและยอมทอนศักยภาพเรื่องของฟอร์มในสนามลง

ดร.แดเนียล พลัมลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการกีฬาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลแลม กล่าวว่า “โควิด-19 เป็นโอกาสที่ดีสำหรับสโมสรบางสโมสรที่มีเจ้าของแข็งแกร่งเรื่องการเงิน พวกเขาสามารถซื้อนักเตะได้ตามใจเลยในช่วงที่มีการผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบ แน่นอน เปแอสเช มีศักยภาพพอจะทำเช่นนั้น และพวกเขาได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสไปแล้ว”

 

เมื่ออนุญาตให้ใช้เงิน พวกเขาก็ใช้มันอย่างเต็มที่ ดังนั้นประธานสโมสรอย่าง นาสเซอร์ อัล เคไลฟี่ จึงยืนยันด้วยตัวเองหลังปิดดีล เมสซี่ ว่า “เราเชื่อมั่นและเคารพ FFP เสมอถ้าคุณพิจารณาดี ๆ เราเซ็นสัญญา 4 ผู้เล่นที่ดีที่สุดในตลาดรอบนี้แบบฟรี ๆ ทั้งสิ้น”  

“พวกคุณอาจจะสงสัยในเรื่องการใช้เงิน แต่รอดูก่อนเถอะ คุณจะตกใจยิ่งกว่านี้แน่ หากรู้ว่า เมสซี่ นำรายได้มาสู่สโมสรนี้มากขนาดไหน … ขออย่างเดียว ถ้าถึงวันนั้นอย่าให้เขามาขอขึ้นงินเดือนก็แล้วกัน” ท่านชีคนาสเซอร์ กล่าวถึงสิ่งที่ตามมาและตบด้วยมุกตลกปิดท้าย 

แล้วถ้ากฎ FFP ไม่มีการผ่อนปรนล่ะ ? เปแอสเช จะรอดอยู่ไหม ?

 

เปแอสเช ก็เป็นเหมือนกับหลายทีมที่ขาดทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฤดูกาลล่าสุดที่มีการเปิดเผยผลประกอบการคือในฤดูกาล 2019-20 (ผลของฤดูกาล 2020-21 ยังไม่ออก) เปแอสเช จ่ายค่าจ้างนักเตะรวมกันทั้งทีมอยู่ที่ 414 ล้านยูโร … เมื่อนำมามาบวกลบคูณหารกับรายรับที่เข้ามาเท่ากับว่า พวกเขาขาดทุนไปทั้งหมด 124 ล้านยูโร 

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2017-18 และ 2018-19 เปแอสเช ได้กำไรอยู่ที่ 72 ล้านยูโร ซึ่งพวกเขาสามารถเอากำไรก้อนนั้น มาช่วยหักลบการเดินเข้าสู่ตลาดซื้อขายนักเตะในซัมเมอร์ 2021-22 ได้ … ได้เพราะอะไร ? 

เพราะการเข้ามาของ จานลุยจิ ดอนนารุมม่า, เซร์คิโอ รามอส, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม, อัชราฟ ฮาคิมี่ และ เมสซี่ นั้น แม้ทำให้ทีมต้องจ่ายค่าเหนื่อยเพิ่มอีกราว ๆ 63 ล้านยูโรต่อปีก็จริง แต่พวกเขาแทบไม่ต้องจ่ายเงินค่าซื้อตัวสำหรับนักเตะเหล่านี้เลย (อาจมีค่าเซ็นสัญญากินเปล่ากับนักเตะและเอเยนต์… ส่วนนี้ไม่นับ) โดยเป็นการเซ็นฟรีแบบไม่มีค่าตัวถึง 4 คน … แม้ในส่วนของ ฮาคิมี่ จะไม่ได้เซ็นฟรี และมีค่าตัว 60 ล้านยูโร แต่ทีมซื้อขายของ เปแอสเช ก็ตกลงดีลนี้ให้เป็นการผ่อนจ่าย โดยพวกเขาจะจ่ายเงินให้กับ อินเตอร์ มิลาน ปีละ 12 ล้านยูโร

เมื่อเอามารวมกันทั้งหมด เท่าว่าปี 2021 เปแอสเช ใช้เงินไป 75 ล้านยูโร สำหรับนักเตะเกรดหัวแถวทั้ง 5 คน หากเอาไปหักลบกับกำไรที่ยังคงมีอยู่ในช่วง 2-3 ปีก่อน เปแอสเช ไม่ได้ขาดทุนมากมายอย่างที่ใครคิด และพวกเขายังไม่ผิดกฎ FFP ตามที่ท่านชีคได้กล่าวไว้ข้างต้น 

นอกจากนี้พวกเขายังได้เงินจำนวนมากที่พร้อมฉีดเข้าสู่ระบบการซื้อขายนักเตะโดยตรงจาก Qatar Tourism Authority หรือ สำนักงานการท่องเที่ยวกาตาร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับ Qatar Sports Investments กลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของทีม รวมไปถึง Accor เครือโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อและจ่ายเงินให้ เปแอสเช 52 ล้านยูโรต่อปี (มากกว่าสปอนเซอร์เดิมอย่างสายการบิน Emirates ถึง 2 เท่า) โดยระยะเวลาสัญญาไม่มีการเปิดเผยแน่ชัด แต่สำนักข่าวอย่าง ESPN บอกว่า “หลายปี” นั่นอนุมานได้ว่า เปแอสเช จะมีเงินจำนวนนี้เข้ากระเป๋าไปอีกนาน และเป็นเงินสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อที่มีมูลค่ามากกว่าที่อื่น ๆ ในลีกเอิงเกิน 5 เท่า คุณจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพวกเขาจึงสามารถใช้จ่ายได้ขนาดนี้ 

เหนือสิ่งอื่นใด เปแอสเช ยังมีพันธมิตรทองคำอย่าง Nike และ Jordan (บริษัทในเครือ) ที่สามารถทำเงินให้พวกเขาได้อีกปีละ 80 ล้านยูโร และสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้คือ 10 ปี นั่นคือเหตุผลว่าทำไม เปแอสเช จึงสามารถกล้าบอกว่า พวกเขาไม่กลัวเรื่องผิดกฎ FFP ตามที่หลายคนกล่าวอ้าง 

และหากวันใดพวกเขาทำผิดขึ้นมาจริง ๆ กฎ FFP ก็ไม่เคยเห็นจะทำร้ายทีมไหนได้ตามที่ ยูฟ่า เคยกล่าวอ้างเลยสักครั้ง เมื่อต้องขึ้นไปสู้คดีกันในศาลกีฬาโลก และยังไม่เคยมีทีมไหนโดนแบนตามที่ ยูฟ่า บอกเลย เต็มที่คือตัดโควต้าการแตะในถ้วยยุโรป รวมถึงการปรับเงิน และปรับในระดับหลักแค่ 10 ล้านยูโรเท่านั้น หากเทียบกับเงินลงทุนที่ เปแอสเช เอาไว้ใช้สร้างทีมของพวกเขาก็ต้องถือว่าแค่นี้ “จิ๊บๆ” 

แม้กระทั่งตอนนี้ หลายฝ่ายไม่ว่าจะนักเศรษฐศาสตร์, คนทำทีม หรือแม้กระทั่งนักเตะเอง ก็ยังออกมายืนยันว่ากฎ FFP คือการออกกฎที่ล้มเหลว ใช้งานจริงไม่ได้ และไม่เคยมีมาตรฐานตรงกลางให้ใครเข้าใจชัด ๆ ได้เลยว่า สรุปแล้วถ้าผิดกฎ FFP จะต้องเจอกับอะไร ? 

ดังนั้นกับคำถามที่ว่า เปแอสเช รอดจากกฎ FFP ได้อย่างไร …. การบริหารที่ยอดเยี่ยม กลุ่มทุนที่เข้ามาสนับสนุนและอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดซื้อขายแบบเต็มระบบ อีกทั้งกฎ FFP ที่ลำพังก็เป็นไม้หลักปักขี้เลนอยู่แล้ว ยังมาลดหย่อนตามภาวะฉุกเฉินอีก มันคือเหตุผลที่ทำให้ เปแอสเช สามารถใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างพอดิบพอดี

แล้ว บาร์ซ่า ทำไมทำแบบนี้ไม่ได้ ? 

หาก เปแอสเช รอด แล้วทำไม บาร์เซโลน่า ที่เป็นสโมสรที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ถึงไม่สามารถเก็บนักเตะที่เป็นดั่งสายเลือดของพวกเขาอย่าง เมสซี่ เอาไว้ได้ ? 

หากตอบสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ลา ลีกา สเปน ก็มีกฎควบคุมการเงินของพวกเขาเอง ลา ลีกา ได้ก่อตั้งแผนกนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะเมื่อ 8 ปีก่อน โดยให้นักวิเคราะห์ทางการเงินเข้าไปตรวจสอบ รายรับ-รายจ่าย ของทีมใน ลา ลีกา และ ลีกรอง อย่าง เซกุนดา อย่างละเอียด ในส่วนของค่าจ้างรวมทั้งปีของสโมสร ตั้งแต่นักเตะในทีม พนักงานทั่วไป ไปจนถึงซีอีโอของทีม 

หลักของการทำงานนั้นคล้าย ๆ กัน ใช้เงินให้น้อยมากกว่าที่หามาได้ แต่วิธีการลงโทษต่างกันชัดเจน หากสโมสรไหนทำผิดกฎ มีค่าเหนื่อยรวมของนักเตะเกินรายรับ ทีมนั้นจะลงทะเบียนนักเตะใหม่เพื่อใช้แข่งขันไม่ได้ 

หากจะถามต่อว่าทำไม บาร์เซโลน่า จึงไม่สามารถทำในสิ่งที่สโมสรอื่น ๆ ทำได้ในการหาเงินส่วนอื่นมาโปะรายจ่ายส่วนนี้ คำตอบนั้นง่ายและสั้นมากคือ “พวกเขาบริหารงานอย่างเละเทะมานาน จนต้องสังคายนาใหม่ทั้งหมด” 

บาร์เซโลน่า มีหนี้สิน 1.3 พันล้านยูโร และเมื่อมีการเลือกตั้งบอร์ดบริหารใหม่ พวกเขาก็กู้ยืมเงินมาเพิ่มอีก 525 ล้านยูโร ดังนั้น บาร์เซโลน่า จะเล่นซิกแซ็กแบบที่ เปแอสเช หรือ แมนฯ ซิตี้ ทำไม่ได้อีกแล้ว … ฤดูกาล 2019-20 บาร์เซโลน่า ต้องจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ 671 ล้านยูโรต่อปี ฤดูกาล 2020-21 แม้จะตัดนักเตะอย่าง หลุยส์ ซัวเรซ, อาร์ตูโร่ วิดัล และ อิวาน ราคิติช ออกแล้ว ก็ยังมีรายจ่ายอีก 347 ล้านยูโร    

ตัวเลขที่มีการเคาะคำนวนกันแล้วว่า หาก บาร์เซโลน่า จะสามารถส่งชื่อนักเตะเพื่อใช้งานใน ลา ลีกา ฤดูกาล 2021-22 ได้ พวกเขาจะต้องลดค่าเหนื่อยรวมต่อปีลงเหลือ 160 ล้านยูโร  

พวกเขาพยายามอย่างยิ่งที่จะเก็บ เมสซี่ ไว้ด้วยการพยายาม “ไม่คิดค่าตัว” และปล่อยนักเตะที่เป็นเหมือนไขมันส่วนเกินอย่าง มิลาเร็ม ปานิช และ ซามูเอล อุมติตี้ ออกไปแบบฟรี ๆ นอกจากนี้พวกเขายังอยากจะขายนักเตะที่ค่าเหนื่อยแพงอย่าง อองตวน กรีซมันน์, ฟิลิปเป้ คูตินโญ่, อุสมาน เดมเบเล่ รวมถึงนักเตะอื่น ๆ อย่าง เนโต้, เคลมองต์ ลองเลต์ หรือ มาร์ติน เบรธเวท เพื่อสร้างส่วนต่างเพียงเล็กน้อยให้เพิ่มขึ้นก็ยังดี … แต่อย่างที่ทุกคนรู้กัน พวกเขาระบายใครออกไปไม่ได้เลย 

เมื่อสูตร 3 แลก 1 (เมสซี่), 5 แลก 1 หรือ 10 แลก 1 ไม่สามารถทำได้จริง ดังนั้น 1 เดียวอย่าง เมสซี่ จึงต้องย้ายออกไป เพื่อผลดีที่สุดต่อทีม เรื่องราวทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ