ผู้โดยสารที่เคยทานอาหารบนเครื่องบิน มักจะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อยเท่าที่ควร สาเหตุนี้เกิดจากงบประมาณที่จำกัดของสายการบิน หรือมีสาเหตุอื่นๆ ด้วย?
งานวิจัยจากต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมทางกายภาพส่งผลต่อประสาทสัมผัสด้านรสชาติของเรา ในสภาวะแวดล้อมที่มีความแห้ง และความกดอากาศต่ำ จะส่งผลให้ความไวของต่อมรับรสต่ออาหารหวานและคาว ลดลงถึง 30% ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ สเปนซ์ นักวิจัยด้านจิตวิทยาการทดลองจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุว่า อาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน มีรสชาติแตกต่างไปจากที่เราทานบนพื้นดิน สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความชื้น, ความกดอากาศ และเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร
หลังจากที่เครื่องบินขึ้นบินและถึงระดับความสูงที่บินได้ (ปกติจะอยู่ที่ความสูงประมาณ 30,000 ฟุต) พนักงานต้อนรับบนเครื่องจะเริ่มบริการอาหารให้กับผู้โดยสาร สิ่งที่น่าสังเกตคือ เมื่อเครื่องบินไต่ระดับสูงขึ้น สภาพแวดล้อมภายในห้องโดยสาร เช่น ความชื้นและความกดอากาศ จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อประสาทสัมผัสด้านรสชาติและกลิ่นของเรา
ที่ระดับความสูง 30,000 ฟุต อากาศภายในห้องโดยสารมีความแห้งมาก โดยความชื้นจะลดลงเหลือเพียง 20% หรือต่ำกว่านั้น สภาวะแวดล้อมที่แห้งนี้ ส่งผลต่อประสาทสัมผัสด้านกลิ่น ทำให้การรับรู้รสชาติของอาหารลดลง นอกจากนี้ความกดอากาศที่ต่ำ ยังส่งผลต่อความไวของต่อมรับรส ส่งผลให้เราสูญเสียการรับรู้รสชาติเค็มและหวานไปบางส่วน ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้รสชาติของอาหารบนเครื่องบิน จืดชืดกว่าปกติ แน่นอนว่า บริษัทผู้จัดเลี้ยงอาหารบนเครื่องพยายามอย่างยิ่งที่จะปรุงแต่งรสชาติของอาหารให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมบนเครื่องบิน
ความกดอากาศและอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สภาวะเหล่านี้ก่อให้เกิดสภาพอากาศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แดด ออก, ฝน ตก, ลมแรง, หนาวเย็น หรือร้อนจัด ล้วนส่งผลต่อกิจกรรมกลางแจ้งของเรา ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางกายภาพเหล่านี้ ยังส่งผลต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภายในอาคารสถานที่ หรือแม้กระทั่งบนเครื่องบินที่ระดับความสูงหลายหมื่นฟุต