"สะเก็ดเงิน" ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

Home » "สะเก็ดเงิน" ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
"สะเก็ดเงิน" ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

          อธิบดีกรมการแพทย์ เผย สถิติสถาบันโรคผิวหนังพบผู้ป่วยในเข้ารับการรักษาด้วยโรคสะเก็ดเงินมากเป็นอันดับ 1 ผู้ป่วยมักมีผื่นหนาตามร่างกายและบางรายอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคตับอักเสบ HIV ร่วมด้วย
แนะดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค

          นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือ โรคผิวหนังเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ จากสถิติพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ 2-4 ของประชากรทั่วโลก เป็นโรคไม่ติดต่อพบได้ทุกเพศทุกวัยและทุกเชื้อชาติทั่วโลก สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุมกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและการพัฒนาการของผิวหนังไม่สมบูรณ์
เป็นโรคผิวหนังที่ถายทอดทางพันธุกรรม ถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นหวัด ความเครียด อาการที่พบคือเป็นผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจนมีสะเก็ดสีเงินปกคลุม เมื่อขูดสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง มักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ศีรษะมีผื่นแดงลอกเป็นขุยขาวๆ คล้ายรังแค อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เล็บ เช่น มีเล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อน ลอกเป็นขุยขาวหรือเป็นหลุมเล็กๆ บริเวณผิวเล็บ และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิด ‘โรคสะเก็ดเงิน’

ถึงแม้ว่าการเกิด โรคสะเก็ดเงิน จะยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากการศึกษาเชื่อว่าการอาจมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวเนื่องกัน อย่างเรื่องของพันธุกรรม , ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ร่วมกับมีลักษณะของการอักเสบจึงทำให้เป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง มีการคัน และตกสะเก็ด

โดยปกติของคนทั่วไปแล้ว เซลล์ผิวหนังในชั้นกำพร้าจะมีการเกิดใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาเพื่อทดแทนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดที่แก่ตัวตายและหลุดลอกออกไปเป็นวัฏจักร ซึ่งเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่นี้จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนผิวหนังชั้นนอกสุด 26 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน จะมีการแบ่งตัวตรงบริเวณรอยโรค หรือมีการงอกของเซลล์ผิวใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาชั้นนอกสุดใช้เวลาเพียงแค่ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกไม่ทันกับการงอกใหม่ ทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่ม หรือปื้น อีกทั้งยังมีเกล็ดสีเงินปกคลุมที่หลุดลอกได้ง่าย

จากการสันนิษฐานในเบื้องต้นพบว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ลิมโฟไซต์ ชนิด T Cells ที่โดยปกติจะมีหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรคถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกิดไป เมื่อมีการเคลื่อนตัวมาที่ชั้นใต้ผิวหนัง เซลลืนี้ก็จะทำงานร่วมกับสารอื่นๆ คอยกระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการแบ่งตัว และเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่เกิดขึ้นทางพันธุกรรมโดยมีแบบแผนการถ่ายทอดไม่ชัดเจน โดยพบว่า หากบิดาและมารดาเป็นโรคนี้ บุตรที่เกิดมาก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 65 – 83% แต่หากบิดาและมารดาที่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค โอกาสของบุตรที่เกิดมาแล้วมีความเสี่ยงจะเป็นโรคสะเก็ดเงินก็ลดลงเหลือเพียง 28 – 50% หรือ หากมีพี่น้องในครอบครัวคนใดที่เป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่ได้เป็น บุตรคนถัดไปที่เกิดมาก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากถึง 24% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่ได้เป็นโรคนี้เลย บุตรที่เกิดมาก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้น้อยลงเหลือเพียง 4%

ลักษณะทางพันธุกรรมนี้เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้เกิดโรค อีกทั้งการเกิดแสดงออกของอาการก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของโรคสะเก็ดเงิยอยู่ก็ตาม แต่หากไม่มีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้นผู้ป่วย ก็จะไม่ทำให้เกิดอาการของโรค ฉะนั้น ผู้ป่วยแต่ละรายจึงควรสังเกตและพยายามหาให้พบว่ามีปัจจัยแวดล้อมอะไรที่เป็นสาเหตุให้ โรคสะเก็ดเงิน กำเริบ แล้วให้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น เพราะปัจจัยที่จะทำให้โรคกำเริบในแต่ละบุคคลไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

ปัจจุบัน พบว่าความผิดปกติของโรคนี้มีอยู่ถึง 8 ชนิด โดยผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมียีนที่ผิดปกติแตกต่างกัน จึงทำให้การแสดงออกของการมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการพบด้วยว่า ผู้ที่มียีนของโรคนี้แฝงอยู่ในร่างกายมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ที่ไม่แสดงอาการ ทำให้เห็นว่าน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ มาเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการร่วมอีก

          โดยปัจจัยที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ ได้แก่ การเกิดบาดแผลบนผิวหนัง ถูกของมีคมเป็นแผลหรือแม้แต่เกิดรอยถลอกเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดผื่นของโรคบริเวณนั้น การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นในฤดูร้อนเพราะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต และอาการจะกำเริบในช่วงฤดูหนาวเนื่องจากอากาศแห้ง ด้านสภาพจิตใจหากผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนใจหรือเครียดจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น การติดเชื้อในร่างกาย เช่น ไข้หวัด มีส่วนทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น รวมถึงการระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น การแพ้ยาทาต่างๆ สบู่ ผงซักฟอก จะทำให้เป็นผื่นมากขึ้น

          อธิบดีกรมการแพทย์ แนะว่า การรักษาโรคสะเก็ดเงินต้องวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคกำเริบ กรณีเป็นผื่นไม่มากรักษาด้วยการใช้ยาทา หากอาการไม่ดีขึ้น อาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจใช้ยารับประทานร่วมด้วย ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ส่วนผื่นที่หนังศีรษะควรใช้แชมพูยาที่มีส่วนผสมของ TAR ร่วมกับการทายา และควรดูแลตัวเองด้วยการทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเนื่องจากจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ เช่น ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด ดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่นจะทำให้เลือดออก และควรเลือกใช้สบู่อ่อนๆ รวมถึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เป็นหวัด ไม่เครียด

 

ขอบคุณข้อมูล จาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ